เมืองพิษณุโลก มีวัดพุทไธศวรรย์ เลียนอย่างอยุธยา – สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ซ้าย) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์สุโขทัยที่เมืองสองแคว-พิษณุโลก (ภาพถ่ายเก่าของ วิลเลียมส์ ฮันท์) (ขวา) ฐานปรางค์ขนาดใหญ่ที่วัดวิหารทอง พิษณุโลก

เมืองพิษณุโลก (ยุคอยุธยา) มีวัดพุทไธศวรรย์ สถาปนาโดยพระบรมไตรโลกนาถ เลียนอย่างวัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา (ซึ่งมีนิทานบอกว่าเดิมเป็นเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง วีรบุรุษในตำนานของกลุ่มสยาม ฟากตะวันตก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

วัดพุทไธศวรรย์ เมืองพิษณุโลก อยู่ที่ไหน? ผมเคยตั้งคำถามโดยเดาสุ่มไปว่าเป็นวัดจุฬามณีได้ไหม? เพราะสร้างโดยพระบรมไตรโลกนาถ และโคลงยวนพ่ายไม่กล่าวถึง แต่ออกชื่อวัดพุทไธศวรรย์

อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อธิบายพร้อมแสดงหลักฐานน่าเชื่อถืออย่างยิ่งว่า วัดพุทไธศวรรย์ เมืองพิษณุโลก ปัจจุบันคือวัดวิหารทอง อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำน่าน (ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)

เนื้อหาวิชาการทั้งหมด จะยกมาแบ่งปัน ต่อไปนี้

Advertisement
วัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา สร้างพร้อมแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา ปลายพุทธศตวรรษที่ 19

วัดพุทไธศวรรย์ในโคลงยวนพ่าย อยู่ที่พิษณุโลก
(สรุปใจความเบื้องต้น ไม่มีอ้างอิง)

ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อวัดพุทไธศวรรย์ ในยวนพ่ายโคลงดั้น

โคลงยวนพ่าย หรือลิลิตยวนพ่าย เป็นวรรณคดียอพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) ได้รับการยอมรับว่าแต่งขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์จริงในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 จึงมีความน่าเชื่อถือ

ปรางค์ประธานวัดจุฬามณี พิษณุโลก สร้างในปี พ.ศ.2007 เพื่อการผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในปี พ.ศ.2008

ส่วนต้นของเรื่องยวนพ่ายเป็นการพรรณนาพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไล่เรียงตั้งแต่พระราชสมภพ มาจนถึงเหตุการณ์เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกับล้านนา พระองค์เสด็จมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก (ขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าเมืองชัยนาท) ทรงผนวช แล้วทรงลาผนวช โคลงบทต่อจากนั้นกล่าวว่า

Advertisement

๏ ปางสร้างอาวาศแล้ว ฤๅแสดง
คือพุทไธสวรรยหมาย ชื่อชี้
ปางถกลกำแพงพระ พิศณุโลกย แล้วแฮ
อยู่ช่างพระเจ้าฟี้ เฟื่องบร

ถอดความสั้นๆ ว่า ทรงสร้างวัดแห่งหนึ่งชื่อ วัดพุทไธศวรรย์ จากนั้นก็ทรงโปรดให้ก่อกำแพงเมืองพิษณุโลกจนแล้วเสร็จ
เป็นที่น่าสงสัยว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่กล่าวถึงในโคลง จะหมายถึงวัดพุทไธศวรรย์ที่พระนครศรีอยุธยาหรือไม่ เนื่องจากเอกสารพระราชพงศาวดารหลายฉบับก็กล่าวตรงกันว่าวัดแห่งนี้สร้างมาก่อนแล้วโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20

วัดพุทไธศวรรย์ อยู่ที่พิษณุโลก

เหตุการณ์ที่โคลงยวนพ่ายกล่าวถึงนั้น ครอบคลุมอยู่ในระยะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงประทับอยู่ที่เมืองชัยนาท-สองแคว จึงเชื่อได้ว่าวัดที่กล่าวถึงนี้จะต้องถูกสร้างขึ้นที่นั้นด้วย ทั้งนี้ในขณะนั้นเมืองพิษณุโลกยังคงแบ่งออกเป็นเมืองฟากตะวันตกคือสองแคว กับฟากตะวันออกคือชัยนาท โคลงบทเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่าในระยะใกล้เคียงกับการสร้างวัดชื่อพุทไธศวรรย์ ได้มีการก่อกำแพงเมืองขึ้นใหม่เพื่อล้อมรอบเมืองสองแควและชัยนาทเข้าจนเป็นเมืองเดียวกัน ชื่อว่า พิษณุโลก

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ สันนิษฐานว่าวัดพุทไธศวรรย์ที่กล่าวถึงนั้นอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่จะเป็นที่ใดท่านยังมิได้ระบุแต่ฝากให้ค้นคว้ากันต่อไป

ข้อน่าสงสัยต่อมา ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์(พงศาวดารอยุธยาที่ชำระในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) กล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดจุฬามณีขึ้นเพื่อการผนวชในปี พ.ศ.2007-2008 แต่ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างวัดชื่อพุทไธศวรรย์เลย จึงมีการสันนิษฐานกันว่าวัดจุฬามณีแห่งนี้เองคือวัดพุทไธศวรรย์ในโคลงยวนพ่าย

วัดจุฬามณี ไม่ใช่วัดพุทไธศวรรย์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ได้วิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมและปูนปั้นปรางค์วัดจุฬามณี จ. พิษณุโลกไว้โดยละเอียด ได้ผลการกำหนดอายุตรงกับที่กล่าวในพงศาวดารว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แม้อายุสมัยจะสอดรับกัน แต่ข้อมูลทางเอกสารบ่งชี้ว่าวัดจุฬามณีไม่ควรเป็นวัดพุทธไศวรรย์ เพราะนอกจากชื่อที่ต่างกันแล้ว ในจารึกที่ติดอยู่กับผนังมณฑปพระพุทธบาทของวัดจุฬามณี (จารึกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) ยังออกชื่อตรงกันกับตัวโบราณสถานว่าวัดจุฬามณี แสดงว่าความทรงจำของชื่อวัดได้ตกทอดอยู่ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ขณะเดียวกัน ข้อมูลสำคัญในโคลงยวนพ่าย ได้ลำดับเหตุการณ์ว่า วัดพุทไธศวรรย์นั้นสร้างหลังจากทรงลาผนวชแล้ว ผิดกับวัดจุฬามณีที่ทรงสร้างขึ้นก่อนทรงผนวช หรือคงสร้างเพื่อเตรียมจะทรงผนวชที่วัดจุฬามณีนี่เอง

ตั้งวัดสำคัญในเมืองพิษณุโลกสองฝั่งแม่น้ำน่าน (ปรับปรุงจาก Google Earth)

ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อ พ.ศ. 2007 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงออกไปผนวชยังวัดเล็กๆ อย่างวัดจุฬามณี ก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกของราชสำนักเมืองเหนือที่จะกระทบกระเทือนหากพระองค์ทรงผนวชในวัดหลวงดังเช่นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเชื้อพระวงศ์ฝ่ายสุโขทัยมายาวนาน สะท้อนว่าในระยะแรกที่พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว-ชัยนาท-พิษณุโลกนั้น พระองค์ยังทรง “เกรงใจ” พระญาติวงศ์ข้างเมืองเหนืออยู่มาก ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ไม่ปรากฏเนื้อหาการสร้างวัดจุฬามณีในโคลงยวนพ่าย เนื่องจากถือเป็นงานเล็กๆ ที่เป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ แต่ในทางกลับกัน การสร้างวัดพุทไธศวรรย์ย่อมจะต้องเป็นงานขนาดใหญ่ระดับงานหลวงซึ่งมีผู้รับรู้กันโดยทั่วไป

ดังนั้น วัดจุฬามณีที่พิษณุโลกจึงไม่น่าใช่วัดพุทไธศวรรย์ที่ระบุในยวนพ่าย

มีอะไรบ่งชี้ความเป็นวัดพุทไธศวรรย์?

เราอาจใช้ข้อมูลเท่าที่มีในโคลงยวนพ่ายและบริบทมาเพื่อสร้างกรอบเพื่อบ่งชี้ความเป็น “วัดพุทไธศวรรย์” ที่สมเด็จพระบรมไตรสร้างขึ้นได้ ดังนี้

1. เป็นวัดที่สร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เพราะโคลงระบุว่าสร้างหลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลาผนวชไม่นาน และควรจะเป็นก่อนปี พ.ศ.2017-2018 อันเป็นสงครามชี้ขาดระหว่างอยุธยากับล้านนาที่เมืองศรีสัชนาลัย อันเชื่อว่าเป็นเรื่องราวหลักที่ถูกกล่าวถึงในโคลงยวนพ่าย

2. เป็นวัดขนาดใหญ่ระดับวัดหลวง ซึ่งควรจะต้องอยู่ภายในตัวเมืองพิษณุโลก และควรอย่างยิ่งที่จะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นส่วนที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้มีอำนาจอยู่ มิใช่ฝั่งตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และองค์พระพุทธชินราชของฝ่ายสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว

3. น่าจะเป็นวัดที่มีพระปรางค์เป็นประธาน เนื่องจากชื่อวัดอาจเทียบเคียงกับวัดพุทไธศวรรย์ที่อยุธยาซึ่งมีปรางค์ประธานตามระบบของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น
4. เป็นวัดที่มีงานศิลปกรรมแบบแผนตามแบบศิลปะอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 กล่าวอย่างง่ายๆ คือยังมีเค้าของงานศิลปกรรมแบบอยุธยาตอนต้นอยู่บ้าง แต่อาจคลี่คลายเข้าสู่ช่วงอยุธยาตอนกลาง

จากกรอบที่ตั้งไว้กว้างๆ นี้ จะพอมองเห็นว่า วัดวาอารามโบราณในเมืองพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่มีร่องรอยงานช่างแบบสุโขทัย เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุองค์เดิมที่อาจเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (คงถูกปฏิสังขรณ์เป็นปรางค์ในปี พ.ศ. 2025) องค์พระพุทธชินราช วัดเจดีย์ยอดทอง

ขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกนั้นเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังจันทน์ซึ่งเชื่อว่าเป็นศูนย์อำนาจของทางอยุธยา/สุพรรณภูมิ และมีโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วัดวิหารทอง กับวัดศรีสุคต ตั้งอยู่เป็นวัดหลวงใจกลางเมืองในอาณาบริเวณของพระราชวังจันทน์ด้วย วัดทั้งสองแห่งจึงน่าพิจารณามากกว่าที่อื่นๆ

วัดวิหารทอง พิษณุโลก คือวัดพุทไธศวรรย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

วัดวิหารทอง ปรากฏซากฐานขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นทิศตะวันออกเข้าสู่มุขด้านหน้า ส่วนฐานที่เหลืออยู่เป็นฐานบัวลูกฟักอยู่ในผังยกเก็จอันเป็นระเบียบฐานของพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา รูปแบบที่น่าสังเกตคือมีการใช้ลวดบัวลูกแก้วอกไก่อันเป็นอิทธิพลศิลปะล้านนาที่พบมากในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ผังของวัดมีฐานปรางค์ตั้งอยู่กึ่งกลาง และมีวิหารคู่ขนานกันด้านหน้าทางทิศตะวันออก

ส่วนวัดศรีสุคต เป็นโบราณสถานขนาดย่อมกว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกวัดวิหารทอง ยังหลงเหลือฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งส่วนบนพังทลายไปหมดแล้ว มีปูนปั้นรูปพระสาวกเดินลีลารอบฐาน อันเป็นอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย เช่นที่ฐานไพทีวัดมหาธาตุ สุโขทัย

ซากวิหาร วัดวิหารทอง พิษณุโลก

เนื่องจากการถูกทิ้งร้างมานาน ชื่อของโบราณทั้งสองในปัจจุบันคงถูกเรียกขึ้นใหม่เป็นสามานยนามอย่างเช่นวัดร้างโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ชื่อวัดวิหารทองกับวัดศรีสุคตจึงไม่น่าเป็นชื่อเดิมของวัดทั้งสองแห่ง

พิจารณาจากขนาดของวัดวิหารทองที่มี จึงเข้ากรอบข้อมูลของวัดพุทไธศวรรย์ที่ตั้งไว้ เช่น ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านบริเวณใกล้กับพระราชวังจันทน์จึงเป็นวัดหลวง สิ่งก่อสร้างเป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ และรูปแบบศิลปกรรมโน้มเอียงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งผิดกับวัดศรีสุคตที่มีเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลสุโขทัย และยังมีขนาดเล็กกว่า
ดังนั้น ในที่นี้จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่โบราณสถานวัดวิหารทอง จะหมายถึงวัดพุทไธศวรรย์ที่ระบุในโคลยวนพ่ายว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

วัดพุทไธศวรรย์ สร้างพร้อมเมืองพิษณุโลก แล้วถูกหลงลืมไป

น่าสังเกตว่า การสร้างวัดพุทไธศวรรย์เป็นเหตุการณ์ใกล้เคียงกับการก่อกำแพงเมืองและรวมเมืองสองแควกับชัยนาท (ฝั่งตะวันตกกับตะวันออกแม่น้ำน่าน) เข้าด้วยกัน สถาปนาขึ้นเป็นเมืองพิษณุโลก วัดแห่งนี้จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์การรวมศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นโดยเน้นพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่เคยอยู่ในอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นมา

ฐานเจดีย์ประธานทรงระฆัง วัดศรีสุคต พิษณุโลก

ขณะเดียวกับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุของฝั่งตะวันออกนั้นยังคงเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมอยู่ คงต้องรอจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2025 ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสามารถมีบทบาทกับราชสำนักฝ่ายเหนือได้อย่างเต็มที่ จึงได้ย้อนกลับไปสถาปนาอำนาจขึ้นที่พื้นที่ของราชวงศ์สุโขทัย ได้แก่การปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนมหาธาตุให้เป็นทรงปรางค์ตามอย่างอยุธยา

จึงเชื่อว่าเมื่อนั้นเอง ที่วัดพุทไธศวรรย์ของพระองค์ได้ลดความสำคัญลงจนต้องทิ้งร้างไปในสมัยหลังจนไม่มีผู้ใดจดจำชื่อเดิมได้ จึงหลงเหลือหลักฐานอยู่ในเอกสารโคลงยวนพ่ายเท่านั้น ขณะเดียวกันกับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุและองค์พระพุทธชินราชยังถูกนับถือสืบกันลงมา ซึ่งคงเป็นเพราะการขึ้นมามีบทบาทอีกครั้งของราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่พิษณุโลกหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image