ดุลยภาพดุลยพินิจ : ข้อมูลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือ นวัตกรรมเกี่ยวกับการควบคุมพลังงานในยุคเจงกีส ข่าน การควบคุมพลังงานของม้าที่ใช้ในกองทัพทำให้กองทัพมองโกลสามารถยึดครองโลกไปได้ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เป็นนวัตกรรมของการควบคุมพลังงานไอน้ำ ซึ่งทำให้เรือกลไฟขนาดใหญ่สามารถขยายขีดความสามารถในการขนสินค้าไปขายและทำให้ประเทศในยุโรปสามารถมีอาณานิคมทั่วโลก

ในโลกปัจจุบันนวัตกรรมที่เป็นคลื่นลูกใหม่ก็คือ ความสามารถในการใช้ข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้นานาประเทศมีความเข้าใจและตามทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ในปีที่แล้วประเทศอื่นๆ ที่มี Big Data ด้านภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับพื้นที่การเกษตรก็รู้ล่วงหน้า 6 เดือนว่าพืชผลเกษตรจะออกมามาก ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ต้องตกต่ำลง ยูเครนก็รีบขายข้าวสาลีให้ไทยถึง 4 ล้านตัน เกษตรกรไทยที่ผลิตธัญพืชจึงตกอยู่ในสถานะผีซ้ำด้ำพลอย เพราะขาดการใช้ Big Data เป็นฐานของนโยบายสาธารณะ

ในประเทศไทย ปัจจัยหลักที่รัฐบาลใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โชติช่วงชัชวาล ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งกำลังจะหมดไปในไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลที่ผ่านมาจึงพยายามหา “หัวรถจักร” ใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย

สำหรับรัฐบาล คสช. ก็ได้ยกเอานวัตกรรมมาเป็นฐานของการเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพใหม่ๆ ที่มีบิซิเนสโมเดลใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูลตัวอย่างเช่น Grab taxi, Airbnb ซึ่งสามารถนำข้อมูลมารวมกันในรูปแบบดิจิทัลเพื่อให้บริการใหม่ที่ลดต้นทุน และระบบข้อมูลที่ใช้อยู่ก็จะสร้างข้อมูลใหม่ตลอดเวลา กลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่แสดงพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้สามารถเอาชุดข้อมูลนี้ไปใช้วิเคราะห์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้ ยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเตอร์เน็ตมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ยิ่งทำให้ข้อมูลมีขนาดใหญ่และสร้างประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

Advertisement

ในปัจจุบันสตาร์ตอัพที่อาศัยข้อมูลขนาดใหญ่และอินเตอร์เน็ตกำลังก่อตัวขึ้น การศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยเศรษฐกิจไทยด้าน Digital Marketing for Thailand 4.0 ของ ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ ผู้จัดทำร่างยุทธศาสตร์วิจัยด้านการตลาดดิจิทัลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รวบรวมข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของไทยในปี 2559 ว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 38 ล้านคนจากประชากร 68 ล้านคน เป็นการใช้งานผ่านสื่อสังคมโซเชียล มีการใช้งานผ่านมือถือถึง 34 ล้านคน ผู้ใช้มือถือนั้นมีถึง 47 ล้านคน แต่มีหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียน 82.8 ล้านเลขหมาย

ประเด็นที่อาจารย์กุณฑลีชี้ให้เห็นก็คือ เจ้าของเทคโนโลยีกลายเป็นผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และปัญหาความไม่เสมอภาคด้านดิจิทัล และดุลยภาพที่เหมาะสมของความเป็นส่วนตัวและความสะดวก

ความคึกคักในตลาดออนไลน์ทำให้เกิดความสนใจด้าน Big Data กันมากขึ้น แม้แต่ในวงราชการ ก่อนที่จะพูดถึงการใช้ Big Data เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า Big Data กันก่อน นักวิชาการด้านข้อมูลได้อธิบายว่า Big Data มีคุณลักษณะ 3 V คือมี Volume เกินกว่าล้านขึ้นไป เช่น บัตรประจำตัวประชาชนเป็น Big Data เพราะมีหลายสิบล้าน Records แต่ก็ยังไปติดคุณสมบัติข้อที่ 2 คือต้องมีการเปลี่ยนแปลงมาก (Velocity) เป็นประจำ แม้ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนมีการเคลื่อนไหวย้ายเข้าออก แต่ก็ไม่ใช่จะเคลื่อนไหวเป็นประจำเสียทุกคน ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงมากก็คือข้อมูลการเงินเข้าออกของสมุดบัญชีของธนาคาร ข้อมูลการติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือ คุณสมบัติข้อที่ 3 ก็คือข้อมูลมีหลายรูปแบบ (Variety) เป็นอักษร ภาพ เสียง เป็นต้น

Advertisement

ข้อมูล Big Data ที่พร้อมใช้งานจึงดูเหมือนจะอยู่ในภาคเอกชน เพราะมีความเป็นปัจจุบันมาก ในอนาคตข้อมูลที่คาดว่าจะถูกใช้มากจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโลเกชั่นของผู้บริโภคเพราะห้างร้านจะสามารถเสนอบริการให้ได้ทันท่วงที สรุปว่า ข้อมูลของเรามนุษย์ผู้บริโภคกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Big Data และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า Big Data ที่บริษัทที่รวบรวมข้อมูล สามารถนำข้อมูลของเราไปขายได้อีกต่อหนึ่ง

ส่วนสาเหตุที่ข้อมูลภาครัฐไม่พร้อมใช้งานทั้งๆ ที่มีจำนวนมหาศาลเพราะ หนึ่ง ข้อมูลเชื่อมโยงกันไม่ได้หรือไม่เคยออกแบบคิดเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกันเพื่อการใช้เชิงนโยบายดังเช่นปัญหาในภาคเกษตรที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สอง ข้อมูลไม่ทันสมัย เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนซึ่งเมื่อบริษัทร้านค้าล้มหายตายจากไปก็ไม่ได้มีการปรับปรุง ส่วน ข้อสุดท้าย เป็นสาเหตุที่เลวร้ายที่สุดคือ หน่วยราชการเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมให้ใช้ เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปเปิดเผยทำให้องค์กรเจ้าของข้อมูลได้รับการตำหนิติติงจนเดือดร้อนมาถึงผู้ให้ข้อมูลในท้ายที่สุด

สาเหตุสุดท้ายนี้มักเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนของราษฎรหรือข้อมูลเกี่ยวกับการบกพร่องในหน้าที่การงานของรัฐ

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เช่น อัตราการรอดของสัตว์น้ำก็ไม่ยอมให้กัน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร การขาดข้อมูลเช่นนี้ทำให้เราไม่รู้ว่าเราฟื้นจากวิกฤตโรคระบาดแล้วหรือยัง และเราควรทำอะไรต่อไปทั้งในด้านการผลิตและการค้า

ที่จริงแล้ว ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐเก็บไว้จะมีค่าก็ต่อเมื่อมีผู้นำไปใช้สร้างประโยชน์ต่อยอดหรือสร้างบริการใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มช่องว่าง หากข้อมูลของรัฐอยู่ในรูปพร้อมใช้ไม่ว่าใครจะใช้ซ้ำกี่ครั้งก็ไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยิ่งใช้ซ้ำมากก็ยิ่งได้ประโยชน์ ทำให้ต้นทุนคงที่ในการจัดเก็บและรักษาข้อมูลลดลง

รัฐบาลควรกำหนดให้การบริการข้อมูลเป็น KPI ของหน่วยราชการ ยิ่งส่วนราชการไหนของบประมาณไปจัดทำฐานข้อมูลเป็นพันล้านก็ควรมี KPI ตัวนี้ที่มีน้ำหนักมากๆ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีความคิดที่จะให้หน่วยราชการหารายได้เล็กๆ น้อยจากข้อมูลเหล่านี้ เข้าทำนอง “ใหญ่ๆ ไม่ เล็กๆ ทำ” บ้านเมืองจึงขับเคลื่อนแบบเรือเกลืออยู่อย่างนี้

ดังนั้น นอกจากจะทำให้ข้อมูลของรัฐพร้อมใช้ สิ่งที่รัฐควรทำก็คือเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ข้อมูลภูมิอากาศเชื่อมโยงพื้นที่การผลิต ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองและการซื้อขายที่ดินเชื่อมโยงกับแผนที่ภาษีเราจะได้เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาว่า โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักเรียน/ค่าเล่าเรียนและมีผลการเรียนการสอนอย่างไร พ่อแม่จะได้ตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนให้ถูกที่ถูกทางกับงบประมาณของตน ฯลฯ

ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจำนวนหนึ่งอยู่บนเว็บไซต์ของใครของมันอยู่แล้ว เมื่อเอามารวมกันแล้วก็วิเคราะห์ใหม่จะตอบปัญหาทางนโยบายสาธารณะเช่นว่า ควรยุบรวมไหมหรือไม่ยุบรวม สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ ในขณะที่ข้อมูลของรัฐยังไม่เชื่อมโยงก็มีความพยายามที่จะไปซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปที่จะทำการวิเคราะห์มาให้ และยังไม่มีบุคลากรที่สามารถใช้โปรแกรมได้ แม้ว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่นของภาครัฐแล้ว การลงทุนด้านโปรแกรมเหล่านี้ก็ยังนับว่าถูกกว่ามาก

ดังนั้น หากรัฐจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานข้อมูลก็ต้องถามว่า โจทย์อะไรสำคัญที่สุดที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูล แล้วถึงวางตัวคนและระบบ training และจะต้องเร่งสร้างศักยภาพทั้งของคนและข้อมูลไปพร้อมๆ กัน

ไม่งั้นก็จะกลายเป็นขี่ช้างจับตั๊กแตนไปเสียอีก!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image