อเมริกาลดค่าเงิน จีนไม่เปิดตลาด โดย : วีรพงษ์​ รามางกูร

แม้นโยบายหลายเรื่องเมื่อตอนหาเสียงแข่งขันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะถูกขัดขวางจากสภาผู้แทนราษฎร เช่น นโยบายเกี่ยวกับการไม่ออกวีซ่าเข้าเมืองของชาวมุสลิมบางประเทศ หรือนโยบายคนอพยพเข้าประเทศ รวมทั้งการถอนตัวออกจากความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศริมมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะมุ่งไปใช้การเจรจาแบบทวิภาคีเป็นรายประเทศ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประเทศญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาทำ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดคือ นโยบายทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง โดยการให้สัญญาณไปยังธนาคารกลางของสหรัฐว่าอยากเห็นดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ต่ำลง อันเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก เช่นเงินยูโรและเงินเยน

นอกจากมาตรการความร่วมมือจากธนาคารกลาง ให้ใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลงและเพิ่มปริมาณเงินขึ้นอีก โดยการออกมาตรการคิวอีรอบใหม่แล้ว ก็ยังมีอีกมาตรการหนึ่งคือมาตรการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณขึ้นไปอีก แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ได้พูด อาจจะเป็นเพราะว่าสภานิติบัญญัติสหรัฐเคยออกกฎหมายจำกัดเพดานการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐไว้ เกรงว่ายอดหนี้ของรัฐบาลสหรัฐจะสูงเกินไป เป็นเหตุให้การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเป็นจำนวนมาก และยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน

เงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นเงินที่มี 2 ฐานะ ฐานะแรกเป็นเงินท้องถิ่นของสหรัฐ กล่าวคือเป็นเงินที่ธนาคารกลางนำออกมาทั้งในรูปธนบัตรและยอดเงินในบัญชีธนาคารของเอกชนและประชาชนชาวอเมริกัน อีกฐานะหนึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่บุคคลอเมริกันและต่างชาติทั่วโลกถือไว้เป็นสำรองเพื่อใช้ชำระหนี้ต่างประเทศ เพราะเงินท้องถิ่นของประเทศอื่นๆ ไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้
กล่าวโดยรวมๆ สหรัฐต้องทำหลายมาตรการเพื่อให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง โดยหวังว่าเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง การส่งออกของสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าสินค้าและบริการของสหรัฐต้องจ่ายเงินสกุลของตนน้อยลง หรือมีราคาถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินสกุลของผู้นำเข้า ขณะเดียวกันคนอเมริกันจะต้องจ่ายเงินดอลลาร์มากขึ้นเพื่อซื้อของนำเข้า หรือต้องซื้อของนำเข้าแพงขึ้น ทำให้อเมริกันขายของออกนอกประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ซื้อของจากต่างประเทศน้อยลง ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดนี้ดีขึ้น

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตามมีเงื่อนไขอยู่ว่า การจะให้ผลของการลดค่าเงินดอลลาร์ได้ผล ทำให้ดุลบัญชีการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น ความยืดหยุ่นของการส่งออกและการนำเข้าต่อราคาตามกฎของ Marshall-Learner condition กล่าวคือความยืดหยุ่นต่อราคาของการส่งออกและนำเข้าต้องเกินกว่า 1.00 จึงจะมีผล ถ้าหากผู้ผลิตในอเมริกาไม่สนองตอบต่อราคาส่งออก และผู้นำเข้ายังนิยมซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะปัจจัยอื่นๆ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็ต้องใช้เวลาปรับตัว จึงจะเปลี่ยนความคิดกลับมาลงทุนในประเทศตัวได้

การปรับตัวต้องใช้เวลา

ทรัมป์สมมุติเอาเองว่าประเทศอื่นๆ จะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรในขณะที่ค่าเงินของตัวแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงไว้กับตะกร้าเงินตราสกุลหลักๆ ยังไม่ได้ลอยตัวเมื่อสหรัฐเพิ่มปริมาณเงิน ลดดอกเบี้ย เพิ่มการขาดดุลงบประมาณ หวังจะให้เงินดอลลาร์อ่อนเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน แต่การอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะทางการจีนกำหนดค่าเงินเองตามตะกร้าเงิน ซึ่งไม่รู้ว่ามีอะไร น้ำหนักเท่าไหร่ในตะกร้าเงินนั้น อาจจะเปลี่ยนสัดส่วนของเงินตราสกุลหลักในตะกร้าเมื่อไหร่ก็ได้

Advertisement

อาการของโรคเศรษฐกิจของอเมริกานั้นแปลก อเมริกาขาดดุลยาวนานมากเกินไป ถ้าเป็นประเทศอื่นเงินทุนสำรองไหลออก ค่าเงินท้องถิ่นต้องตกต่ำลง ทำให้รัฐบาลต้องกังวลฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องใช้นโยบายอย่างที่ประเทศไทยยุคป๋าเปรมใช้คือ “ประหยัด นิยมไทย ร่วมใจกันส่งออก” เพื่อลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออก พยายามหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินบาท เพราะการลดค่าเงินบาทจะทำให้นายทุนถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก เพราะทุกคนเอาประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็งเกินฐานะของประเทศ ผู้ที่เป็นผู้นำเข้าหรือใช้ของนำเข้าได้ประโยชน์ ส่วนผู้ที่ถูกกระทบคือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก คือชาวไร่ชาวนา ชาวสวนยาง ชาวไร่อ้อย น้ำมันปาล์ม ซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้องเสียเปรียบต้องรับภาระ นโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ไม่ได้ผล ในที่สุดก็ต้องลดค่าเงินบาท เศรษฐกิจจึงฟื้นตัว

การที่ค่าเงินสหรัฐอ่อนลงจะด้วยมาตรการอะไรก็ตาม โดยที่ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นยอมให้ค่าเงินของตนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะสามารถส่งออกสินค้าและบริการได้มากขึ้น และจะนำเข้าสินค้าและบริการน้อยลง เพราะการณ์จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อความยืดหยุ่นของการส่งออกและการนำเข้ารวมกันต้องเกินกว่า 1.00 ตามเงื่อนไขของ Marshall-Learner เงื่อนไขเช่นว่า หมายความว่าผู้ใช้อุปโภคบริโภคของอเมริกันทั่วโลกมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าและบริการของอเมริกัน ขณะเดียวกันคนอเมริกันก็สนองตอบต่อราคาสินค้าและบริการของต่างประเทศ เมื่อสินค้าและบริการทั้งประเทศแพงขึ้น ก็จะหันมาใช้สินค้าและบริการของอเมริกันมากขึ้น

แต่ในความเป็นจริง ราคาเป็นเพียงส่วนเดียวในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกันหรือที่ไหน นอกจากราคาแล้ว คุณภาพของสินค้าและบริการ แฟชั่นที่ทันสมัยก็มีส่วนสำคัญ บริการก่อนและหลังการขาย การโฆษณา รวมทั้งความเชื่อ เช่นผู้คนเชื่อว่าน้ำหอมต้องของฝรั่งเศส แฟชั่นเสื้อผ้าสตรีต้องฝรั่งเศส แฟชั่นเครื่องแต่งกายผู้ชายต้องของอิตาลี เป็นต้น

เศรษฐกิจของสหรัฐเป็นเศรษฐกิจใหญ่ รายได้ประชาชาติอยู่ในระดับสูง สูงจนไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพสูงได้ แรงงานในสหรัฐจึงเป็นแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานที่ใช้มือ หรือ manual worker แต่เป็นแรงงานที่ดูแลควบคุมเครื่องจักรทางจอคอมพิวเตอร์

อเมริกาจึงไม่มีความได้เปรียบในการผลิตสินค้าและบริการในขั้นเพื่อบริโภค แต่อเมริกาได้เปรียบในการทำวิจัยค้นคว้าวิทยาการการผลิตหรือ technology ใหม่ๆ และสามารถผูกขาดได้เป็นเวลา 10 ปี ในระยะนั้นอเมริกาต้องรีบผลิตและทำกำไรให้ได้สูงสุด เพราะเมื่อหมดกำหนดการคุ้มครองตามสิทธิบัตรและนิมิตบัตร ผู้อื่นจะสามารถแข่งขันได้ ก็จะมีการต่อยอด ปรับปรุงคุณภาพ รูปลักษณ์ให้สวยงามกว่าผลิตภัณฑ์ของสหรัฐ และสามารถผลิตได้ถูกกว่าสหรัฐเพราะค่าแรงถูกกว่า โรงงานสหรัฐก็ต้องย้ายออกจากสหรัฐมาร่วมลงทุนกับญี่ปุ่น กับจีนหรือเม็กซิโก เพื่อผลิตและส่งกลับเข้าไปขายในอเมริกา อเมริกาจึงขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดกาล

แต่เมื่อใดอเมริกาค้นพบวิทยาการการผลิตหรือ technology ใหม่ๆ หรือค้นพบทรัพยากร เช่น พลังงานแหล่งใหม่ สามารถเป็นวัตถุดิบราคาถูกทดแทนการนำเข้า ก็จะเกิดอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบที่ถูกค้นพบภายในประเทศ สามารถผลิตทดแทนการนำเข้า เช่นการค้นพบเทคนิคการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้พื้นพิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. ทำให้ได้พลังงานในราคาถูก ทดแทนการนำเข้าจากตะวันออกกลาง นอกจากจะทำให้ราคาพลังงานในสหรัฐมีราคาถูกลง แล้วยังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกถูกลงด้วย ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างที่ใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีราคาถูกลงทั่วโลก ความได้เปรียบของอเมริกาก็ลดลงเหลือเพียงค่าขนส่งเท่านั้น และในไม่ช้าเมื่อค่าขนส่งถูกลงก็ไม่แน่ว่าความได้เปรียบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของสหรัฐ
จะหายไปหรือไม่

อีกมาตรการหนึ่งก็คือ กดดันให้จีนเปิดตลาดของตนให้มากขึ้น ค่าเงินหยวนควรจะมีความยืดหยุ่นตามฐานะทางการเงินของตน คือแข็งขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะจีนไม่ใช่ประเทศเล็กอย่างไทย เกาหลี สิงคโปร์ หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่สหรัฐมีอิทธิพลเหนือ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลทางการเมืองและทางทหารด้วย แต่มิได้เป็นอย่างนั้นสำหรับจีน

แม้ว่าจีนจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามกับสหรัฐอย่างที่สุด เพราะวิทยาการทางทหาร หรือ military technology ของจีนยังตามหลังอเมริกาอยู่ถึง 20 ปี แต่อานุภาพของกองทัพปลดแอกของจีนก็ไม่แพ้ใคร ถ้าอเมริกาก่อสงครามกับจีน แม้ที่สุดอเมริกาจะเป็นฝ่ายชนะแต่ก็คงจะยับเยิน และจะกลายเป็นสนามรบด้วย ไม่เหมือนการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่สหรัฐไม่ได้กลายเป็นสนามรบ แต่จีนทำสงครามทางเศรษฐกิจชนะอเมริกามาจนเศรษฐกิจจีนเติบโตก้าวกระโดด เศรษฐกิจอเมริกาซบเซาย่อยยับ เพราะอเมริกาบริโภคเกินความสามารถในการผลิต
ความจริงการกำหนดนโยบายการค้าก็ดี การกำหนดระบบอัตราแลกเปลี่ยนก็ดี ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ต้องปฏิบัติตามกฎและผูกพันตามข้อตกลงที่ตนได้ให้ไว้เมื่อตอนแรกเข้า การที่องค์การการค้าโลกยังมิได้กล่าวอะไรก็เท่ากับว่าจีนยังปฏิบัติตามกฎขององค์การการค้าโลกอยู่ ไม่ได้เป็นไปตามที่สหรัฐกล่าวหา ส่วนสหรัฐจะกีดกันการค้าระหว่างประเทศ จะไม่ยอมเจรจาพหุภาคีแต่จะเอาทวิภาคี ก็เป็นเรื่องของสหรัฐ ส่วนจะได้ผลแค่ไหนก็ต้องคอยดูกันต่อไป การที่จะเล่นงาน 13 ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย เป็นการกล่าวที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศคู่ค้า ต้องคอยดูว่าอเมริกาจะทำอย่างไร พวกเราก็ควรเตรียมมาตรการไว้โต้บ้าง แม้เราจะเป็นประเทศเล็กไม่มีความหมายสำหรับอเมริกา

ไม่ควรปล่อยให้อเมริกาเป็นผู้กระทำแต่ฝ่ายเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image