อ.วิศวะ จุฬาฯ แนะ หากจะซื้อเรือดำน้ำจริง ต้องกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย

วันนี้ (28 เมษายน) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ แนะนำรัฐบาลกรณีการอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจีน โดยแนะนำให้มีการกำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จากจีนสู่ไทยด้วย เพื่อเพิ่มความรู้ และให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนการซ่อมบำรุงต่างๆเองได้บ้าง ระบุว่า

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พ.ศ.2550 เมื่อผมเริ่มศึกษาอุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศไทย ในมิติการเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ช่วงนั้นข่าวสำคัญในวงการต่อเรือที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คน บอกให้ผมไปศึกษาหาความรู้ คือ “โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ.2550”

อ่านผ่านๆ หรือเห็นหัวข้อโดยไม่รู้ที่มาที่ไปก็คงไม่รู้สึกอะไร

แต่ความสุดยอดของเรื่องนี้ต้องย้อนอดีตต่อไปอีกว่ากองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการพระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ “เพื่อการพึ่งพาตนเอง” ของกองทัพเรือมาโดยตลอด ด้วยการสร้างเรือตรวจใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2530
ทรงมีพระราชดำรัสสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม”

4 ธันวาคม 2550 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องเรือตรวจการณ์ หรือ “เรือ ต.” และ “เรือดำน้ำ” ความตอนหนึ่งว่า

“เราสร้างเรือ เราสร้างเรือให้พอเพียง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง นั่นน่ะ มันไม่พอเพียง มันเล็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ก็ควรจะใหญ่กว่าหน่อย แต่ถ้าใหญ่เกินไปไม่พอเพียง ถ้าลึกเกินไปก็ไม่พอเพียง เรือที่เขาจะทำ เรือดำน้ำน่ะ ดำลงไป ไปปัก ปักเลนเลย นี่เดี๋ยวเขาโกรธเอา เรือแล่นๆไป ลงไป ดำน้ำ ไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนถึงจะไม่เห็น แล่นๆไป ปักเลน ถ้าอยากไปที่ที่ลึกก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่ลำที่เราทำเราสร้าง ก็ใช้ได้ดีแล้ว แต่ที่ควรจะสร้างต่อไปให้ใหญ่กว่านี้หน่อย แต่ตอนนี้คงไม่มีเงินแล้ว ต้องใหญ่กว่าหน่อย เพราะถ้าไม่ใหญ่พอจะไม่สามารถที่จะปฏิบัติการณ์อย่างต่อเนื่อง”

Advertisement

นั่นคือพระอัจฉริยภาพและการมีสายพระเนตรที่ยาวไกล สอดคล้องทั้งกับภูมิประเทศและการพัฒนาขีดความสามารถในทางวิศวกรรมของกองทัพ

คำสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ “ควรซื้อ” หรือ “ไม่ควรซื้อ” เพราะขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการนำเอาไปใช้งาน ซึ่งกองทัพก็น่าจะรู้เรื่องนี้ดีกว่าพวกเรา แต่วิศวกรอย่างผมสนใจมุมมองในประเด็นความพอเพียงเหมาะสมแก่สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาขีดความสามารถในทางวิศวกรรมด้วยตัวเอง “เพื่อการพึ่งพาตนเอง” ตามแนวพระราชดำริ

ถ้าอยากจะซื้อเรือดำน้ำกันจริงๆ ขอให้มีการกำหนดนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากจีนใหักับไทย เพื่อให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมบำรุง หรือผลิตเรือทำนองนี้ได้เองในอนาคตด้วยได้ไหม ถ้าสามารถกำหนดเงื่อนไขนี้ได้ก็ยังน่าสนใจ ดีกว่าเสียสตางค์จ่ายเงินซื้อกันมาเฉยๆ หมดอายุแล้วก็โยนทิ้งไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image