สกู๊ปข่าว : ปิดซ่อมชั่วคราว ยืดชีวิตธรรมชาติž สู่ท่องเที่ยวžยั่งยืน

ภาพปริมาณนักท่องเที่ยวไหลทะลักเข้าไปยังแหล่งท่องช่วงวัยหยุดยาว โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แทนที่จะเป็นช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจสบายอารมณ์ กลับกลายเป็นความแออัด แย่งกันกิน แย่งกันอยู่

ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ตักตวงความสวยงามตามธรรมชาติไม่ได้เต็มที่ แต่ตัวพื้นที่เองก็พลอยจะได้รับผลเสียไปด้วย จากขีดจำกัดในการรองรับปริมาณฝูงชน

มีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วหลายพื้นที่ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ชัดเจนแม้สักพื้นที่เดียว

ความนิยมของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จากตัวเลขตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-เมษายน 2560 ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงวันหยุดยาว อย่างเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีลำดับ 1-10 ดังนี้

Advertisement

1.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
2.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
3.อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
4.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
5.อุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ
6.อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
7.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
8.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
9.อุทยานแห่งชาติเขาสก
10.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แสดงความเป็นห่วงในนี้ว่า นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้อุทยานแห่งชาติมีรายได้มากขึ้น แต่อุทยานฯก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขรายได้เป็นหลัก เพราะงานหลักที่กรมอุทยานฯจะต้องทำคือ การทำให้ทรัพยากรคงอยู่กับคนไทยตลอดไป ที่ผ่านมาจึงมีการจัดสรร รายได้จากอุทยานฯใหญ่ๆ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและมีรายได้สูง ไปให้อุทยานฯขนาดเล็กที่มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมไม่มากนัก โดยเข้าไปปรับปรุง ฟื้นฟูสถานที่ ทำระบบสาธารณูปโภค เพื่อที่จะให้สถานที่เหล่านั้นช่วยแบ่งเบาปริมาณนักท่องเที่ยว ไม่ให้มุ่งไปแต่แหล่งที่ได้รับความนิยม มีความแออัดยัดเยียดจนเกินไป

เรื่องการจัดระเบียบ จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการปิดพื้นที่ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟู ก็ทำมาโดยตลอด เช่น เกาะตาชัยในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ก่อนหน้านี้เสื่อมโทรมอย่างหนัก จากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปจนล้นเกินขีดความสามารถที่ทรัพยากรจะรับได้ ทำให้หลายสิ่ง เช่น ปะการัง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนกรมอุทยานฯต้องสั่งปิดแบบไม่มีกำหนดเปิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 กระทั่งวันนี้ไปสำรวจแนวปะการังในบริเวณโดยรอบเกาะตาชัยอีกครั้ง พบว่าฟื้นฟูขึ้นมาในระดับที่น่าพอใจ

Advertisement

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกด้วยว่า อย่างไรก็ตามการจะสั่งปิดหรือจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ใดที่หนึ่ง ต้องมีการศึกษาเก็บข้อมูลและวางแผนอย่างรอบคอบ ขณะนี้ได้เตรียมการจะฟื้นฟูพื้นที่อ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพีเอาไว้ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีหน้า โดยเตรียมทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ทั้งนักท่องเที่ยว เจ้าของสถานประกอบการ และบริษัททัวร์ทราบล่วงหน้า เพราะเขาจะมีระบบการซื้อตั๋วล่วงหน้าเป็นปี วิธีการคือเราจะเริ่มจำหน่ายตั๋วในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้รู้ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ชัดเจนแน่นอน เมื่อตั๋วขายหมดตามจำนวนที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีการขายอีก ใครไม่มีตั๋วก็เข้าไม่ได้ รูปแบบดังกล่าวหลังจากเริ่มนำร่องในพื้นที่อ่าวมาหยาแล้ว ก็จะทยอยทำในอุทยานฯ
ยอดนิยมอื่นๆ

เมื่อพูดถึงความเสียหายจากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวจนล้นอุทยานฯหนักหนาสาหัสเพียงใด อธิบดีธัญญาบอกว่า ก่อนหน้านี้ค่อนข้างหนัก แต่ระยะหลังความเสียหายลดลงมา เพราะมีการพัฒนาพื้นที่อุทยานข้างเคียง อุทยานขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมกระจายตัวออกไป ไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป

ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการที่ให้ความสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า การปิดอ่าวมาหยาเพื่อให้พื้นที่ได้ฟื้นฟู สามารถทำได้อย่างแน่นอน ปิดในช่วงฤดูมรสุมซึ่งเป็นช่วงนักท่องเที่ยวไม่มากนัก ความสามารถของอ่าวมาหยาในการรองรับนักท่องเที่ยว คือประมาณ 2,500-3,000 คนต่อวัน เป็นปริมาณที่ทุกคนจะอยู่กันอย่างสบายๆ ไม่แออัด วันปกติก็จะอยู่ประมาณนี้ แต่เมื่อถึงวันหยุดยาว เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา บางช่วงมีนักท่องเที่ยวมากถึง 8 พันคน เข้าขั้นแออัดมาก

นอกจากจำนวนคนแล้ว พาหนะที่นำคนไปเที่ยวก็ยังสร้างปัญหาด้วย การนำเรือเข้าไปจอดเทียบหาด หรือใกล้แนวปะการัง ไม่ส่งผลดีแน่ๆ ดังนั้นการจัดระเบียบ จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวจะต้องทำมูล และจัดการวางระบบระเบียบพื้นที่ให้ดี ซึ่งมั่นใจว่าถ้าทำได้ เบียดเบียนทรัพยากรน้อยลง ปล่อยโอกาสให้ได้ฟื้นตัวบ้าง ทุกคนก็จะมีโอกาสชื่นชมทรัพยากรที่สวยงามตลอดไป

ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจ ท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) แสดงความเห็นด้วยกับการแนวทางลักษณะดังกล่าว พร้อมมีข้อเสนอว่าควรเน้นไปที่การบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม มากกว่าการจะยึดเพียงแค่แนวคิดจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันซึ่งมีหลายเกาะ ช่วงนี้อาจจะปิดเกาะนั้น เปิดเกาะนี้ โดยไม่จำเป็นต้องปิดพร้อมกันทั้งหมด น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เนื่องจากพื้นที่นี้มีชื่อเสียงดังระดับโลก ไม่ใช่มีเพียงแต่นักท่องเที่ยวคนไทยแต่ยังมีต่างชาติวางแผนมาท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญที่สมาคมเห็นว่าจะทำให้เป้าหมายที่บรรลุไปได้ด้วยดี ควรมีการหารือกันก่อนระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านการท่องเที่ยว เพราะมาตรการจะได้ผลสัมฤทธิ์ ควรแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการของตลาดกระแสนักท่องเที่ยว โดยพิจารณาเป็นรายอุทยานฯว่าอุทยานฯ

ไหนควรมีการบริหารจัดการอย่างไร และควรวางแผนเรื่องนี้ โดยให้เวลากับผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวแต่ละชาติต่างมีการวางแผนการเดินทาง การซื้อตั๋วเครื่องบิน การจองที่พักล่วงหน้าไว้อยู่แล้ว

หากรัฐจะออกมาตรการทันทีย่อมมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เห็นว่าเป็นนโยบายที่อาจจะสวนทางกับแนวทางที่ภาครัฐบาลเอง ที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศŽ ภูริวัจน์กล่าวทิ้งท้าย

ทรัพยากรใช้แล้วไม่ดูแลก็มีโอกาสเสื่อมโทรมสูญไป ช่วยกันคนละไม้คนละมือฟื้นฟู เราก็จะมีธรรมชาติสวยๆ งามๆ ให้ชื่นชมได้ตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image