กสทช.เล็งเคาะแนวทางกำกับดูแล OTT ส.ค.นี้

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวในการบรรยาย เรื่องรู้จัก เข้าใจ ความเป็นไปของ OTT ในประเทศ ว่า Over The Top(OTT) หมายถึง การแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใดก็ตาม หากเป็นไปเพื่อการให้บริการกับคนจำนวนมาก ถือเป็นบริการ OTT ซึ่งแนวทางสำหรับการกำกับดูแลบริการธุรกิจ OTT ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย กำลังอยู่ในระหว่างศึกษา ซึ่งทางกสทช. เห็นว่าการกำกับดูแลต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่กระทบประโยชน์สาธารณะ กสทช. แต่เบื้องยังบอกไม่ได้ว่าการกำกับดูแลจะเป็นอย่างไร รวมถึงจะกำกับผ่านระบบใบอนุญาตหรือไม่ จะออกระเบียบอย่างไร ขณะนี้ยังบอกไม่ได้เพราะอนุกรรมการฯยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน คาด 4-5 เดือนต่อจากนี้จะมีความชัดเจน

“ ผมมั่นใจว่าภายในเดือนสิงหาคม จะมีความชัดเจนของการกำกับดูแลอย่างแน่นอน โดยกติกาจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กสท. ,พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ส่วนการที่จะเป็นการควบคุมสื่อหรือไม่นั้นผมขอให้ การออกอากาศของสื่อมวลชนที่ผ่าน Facebook live , You Tube ให้ดำเนินตามปกติ เนื่องจากยังไม่ได้กำหนดใดๆ หรือควบคุมอะไรทั้งสิ้น ยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ” พ.อ.นที กล่าว

ผลการวิจัยการให้บริการ OTT แบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจากรูปแบบการจัดเก็บรายได้ คือ 1. OTT ที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ เรียกเก็บค่าบริการ มุ่งหารายได้ 2. OTT ที่ให้บริการแบบผสมโดยให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกที่จะชมฟรีหรือชมรายการพิเศษที่คิดค่าบริการ และ3. OTT ที่ให้บริการฟรี เมื่อมองไปที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในระดับโลกแนวโน้มการรับชมรายการตามกำหนดเวลาลดลงจาก 70% เหลือ 60% ขณะที่การรับชมเนื้อหาตามความต้องการ(ทีวีออนดีมานด์) ที่ชมได้ตามความต้องการรับชมเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% คน มีการใช้เวลาชมทีวีออนดีมานด์เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง กลุ่มผู้ชมหลักคือกลุ่มอายุ 16-34 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image