‘จรัญ’ ชู 5 หลักจริยธรรม ร.9

‘จรัญ’ ยึด 5 หลักจริยธรรม ร.9 เตือนอย่าตกเป็นเครื่องมือความคิดสุดโต่ง ชี้ ผู้ใหญ่กินเด็ก 15 มีความผิดร้ายแรง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ข้าราชการใต้พระปรมาภิไธยและจริยธรรมนักกฎหมาย” โดยกล่าวถึงการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 5 ข้อ ว่า 1.ทรงงานตามหลักธรรมาธิปไตย ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ โดยมิได้ถืออำนาจและทำตามอำเภอใจ หลักการนี้เป็นรากแห่งความยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยความถูกต้องตามความเป็นจริง ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 2.ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนทุกหมูเหล่า โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่ลำเอียง หรือเลือกปฏิบัติ โดยได้เน้นย้ำสั่งสอนประชาชนมาโดยตลอด หลักการนี้เป็นรากเง่าแห่งกฏหมายทั้งปวง

นายจรัญ กล่าวว่า 3.ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนให้ผู้ด้อยโอกาสในสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าศักดิ์ศรี มิได้ทรงให้เพียงวัตถุหรือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ยากไร้ แต่ทรงให้ความรู้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุและผล 4.ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล มองเห็นภัยที่จะทำลายประเทศได้ล่วงหน้า คิดหาแนวทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที 5.ทรงพากเพียรให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

นายจรัญ กล่าวว่า ที่ทรงตรัสว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมหาชนชาวสยาม’ เป็นเรื่องแปลกสำหรับนักกฎหมาย คำนี้ถือเป็นคำกล่าวที่เป็นอมตะวาจา พระองค์ทรงครองหลักธรรมาธิปไตยโดยไม่เอาความคิดของพระองค์เป็นใหญ่ แต่ปัจจุบันยึดหลักเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เสียงส่วนใหญ่หากกำหนดทิศทางประเทศไปในทางที่ผิด หรือเสื่อมต่อมหาชน ก็ไม่ใช่หลักธรรมาธิปไตย ทั้งนี้ เราอยู่ในสังคมที่ยึดถือประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โดยยึดเสียงข้างมากเป็นทางออกของทุกประเด็น แต่ต้องระลึกด้วยว่า แม้มติข้างมากจะปลอดภัยแก่ผู้ที่เดินตาม แต่ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน หากทำร้ายหรือสร้างการทำลาย จะต้องติดเบรคห้ามล้อให้ได้ มิเช่นนั้นจะพาประเทศย่อยยับ หลักธรรมาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ถือเป็นหลักการที่ประเสริฐที่สุด เพราะถือหลักความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ถือกฎหมายเหนือความยุติธรรม

Advertisement

นายจรัญ กล่าวว่า หลักการนี้ไม่ใช่ใช้เฉพาะผู้นำเท่านั้น ทุกคนสามารถใช้หลักการนี้ไปตัดสินใจในการดำเนินชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของความคิดสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละด้าน พร้อมหาประโยชน์เพื่อปรับใช้ให้อยู่ตรงกลาง เมื่อใดนักกฎหมาย ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เมื่อนั้นก็ถือเป็นนักกฎหมายสายปีศาจ และเมื่อมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ไปล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนอายุ 15 ปี แม้เยาวชนจะยินยอม ก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง และถอว่าผิดศีลธรรมด้วย ดังนั้น หากใครกระทำผิด ก็จะต้องรับผิดชอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image