‘รพ.ขาดสภาพคล่อง’ ทางออกสู่การปฏิรูประบบอย่างยั่งยืน

เป็นความหวังของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทันทีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้งบประมาณกลางราว 5,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาวิกฤตกว่า 70-80 แห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่ขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 (สูงสุด) 5 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขาดสภาพคล่องปานกลางระดับ 4-5 อีกประมาณ 64 แห่ง

ล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ “หนังสือพิมพ์มติชน” ว่า สำหรับงบที่จะลงไปช่วยเหลือเร่งด่วนมีจำนวนทั้งหมด 4,979 พันล้านบาท (4,979,405,500 บาท) แบ่งออกเป็น 1.งบค่าตอบแทนกำลังคน 1,000 ล้านบาท 2.งบค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยใน และรวมบริการทารกเกิดใหม่ โดยงบก้อนนี้จะไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเงิน 3.3 พันล้านบาท (3,376,364,500 บาท)

และ 3.งบอีกกว่า 600 ล้านบาท (603,041,000 บาท) เป็นงบที่ไปที่ สปสช.เช่นกัน ในเรื่องการจ่ายโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งไตวายเรื้อรัง บริการเฉพาะที่มีผลงานบริการเกินเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีผลงานเกินเป้าหมายก็จะมีงบก้อนนี้เข้าไปเติม เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเกินเป้าหมาย ทำให้ไม่สามารถหาเงินไปจ่ายคืนแก่ รพ.ได้ ยกตัวอย่าง กำหนดการให้บริการผู้ป่วย 100,000 คน แต่มาเข้ารับบริการ 120,000 คน เกินมา 2 หมื่น แต่ไม่มีเงินให้ รพ. ก็ต้องใช้งบส่วนนี้
ทั้งหมดจะจัดสรรให้ รพ.ทุกระดับ ยกตัวอย่างงบผู้ป่วยในจากการคำนวณ 1 ใน 3 ของงบจะไปที่ รพศ. และ 1 ใน 3 จะไปที่ รพท. และอีก 1 ใน 3 จะไปที่ รพช. เท่าๆ กัน อย่างไรก็ตาม งบดังกล่าวแม้จะมาช่วย รพ.ที่ประสบปัญหาได้ แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น สิ่งสำคัญต้องมีแนวทางที่แก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนด้วย

จุดหนึ่งที่เป็นปัญหามากและทาง รพ.ต่างมองว่าควรมีการปรับปรุง คือ ในส่วนของการจ่ายเงินของ สปสช.เรื่องการบริการค่าใช้จ่ายเฉพาะ ทั้งผ่าตัดต้อกระจก ผ่าข้อเข่าเทียม ฯลฯ ยกตัวอย่าง การกำหนดการให้บริการผู้ป่วย แต่เมื่อผู้ป่วยมารับบริการเกินเป้าหมาย ทำให้ไม่มีเงินมาจ่าย รพ.อีก ซึ่ง รพ.จะไม่รักษาไม่ได้ ขณะที่ สปสช.มองว่า การบริการจุดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงต้องหารือกันว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

Advertisement

นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับทางออกระยะยาวนั้น มีการหารือร่วมกัน คือ 1.ในปี 2561 ต้องมาดูตัวเลขจริงๆ ว่าควรเป็นเท่าไรจึงจะเข้ามาในระบบแล้วอยู่ได้ 2.กระทรวงต้องปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ต้องคุมค่าใช้จ่ายให้ดีที่สุด ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล อุดรูรั่วเรื่องค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ปรับประสิทธิภาพเรื่องการบริหารกำลังคน โดยเราพยายามปรับกรอบอัตรากำลังอยู่ และต้องปรับแผนการใช้จ่าย รายรับเท่าไร รายจ่ายเท่าไร โดยต้องมาดูว่ารายจ่ายมากเกินไปหรือไม่ โดยวัดตามกลุ่ม รพ.ระดับเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งหากต่างกันมากก็ต้องมาคุยกันว่าเพราะเหตุใด และปรับประสิทธิภาพทันที ซึ่งเรามีตัวชี้วัดไว้ 5 ระบบ คือ ระบบบริหารแผนการเงิน ระบบบัญชีการเงิน ระบบจัดเก็บรายได้และการบริการ ระบบควบคุมรายจ่าย และระบบพัสดุ เป็นต้น

3.เพิ่มรายรับอย่างอื่น เช่น คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ห้องพิเศษ ซึ่งก็มี รพช.ที่เพิ่มรายได้ด้วยโครงการ รพ.ประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือของคนในพื้นที่ มีการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้ว ปรับให้มีห้องพิเศษที่ประชาชนทั่วไปเข้ารับบริการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าราคาจะแพงมากมาย ซึ่งที่ผ่านมามี รพ.อุบลรัตน์ และ รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้นำร่องทำโครงการนี้ ส่วน รพ.ไหนไม่มี แต่จำเป็นต้องมีตึกก็อาจต้องสร้างตึกในบางแห่งที่จำเป็นจริงๆ เป็นต้น โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลัก ซึ่งที่ รพ.อุบลรัตน์ และ รพ.น้ำพอง ชวนชาวบ้านที่สมัครใจจ่ายเงินวันละ 3 บาท ตกปีละ 1,000 บาท ซึ่งหากใครป่วยและต้องนอนพักใน รพ.ก็จะนอนในห้องพิเศษ ส่วนใครไม่ป่วยก็เหมือนเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

เกี่ยวกับ รพ.ประชารัฐนั้น นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผอ.รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า รพ.ประชารัฐมีหลายรูปแบบ แต่ที่ รพ.น้ำพองนั้นเรียกว่าเป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะเน้นเรื่องการประหยัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รู้จักพอเพียง และหารายได้เพิ่มบนหลักการที่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รพ.จะพยายามประหยัดทุกอย่าง ทั้งค่าน้ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าระบบสาธารณูปโภค ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯ แต่ก็ช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้เพียงส่วนหนึ่ง ยังต้องพึ่งพาระบบด้วย แต่สิ่งสำคัญเราต้องบริหารจัดการภายใน รพ.ให้มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งมีโอกาสได้คุยกับ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่า เราควรบริหารจัดการอย่างไรกับงบประมาณที่ได้มาจำกัด

หลักการบริหาร คือ 1.ต้องมีวินัยทางการเงินการคลัง 2.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เรียกว่าประชารัฐ โดยการสร้างเครือข่ายทั้งประชาชน ชาวบ้าน พระสงฆ์ ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งประกอบด้วย PPP คือ 1.Public คือ รัฐ ซึ่งอาจจะช่วยในรูปแบบการสนับสนุนสร้างตึก หรือสนับสนุนอื่นๆ 2.Private คือ เอกชน อาจสนับสนุนด้านเครื่องมือแพทย์ หรือการจ้างงานผู้พิการ รวมทั้งการจ้างผู้สูงอายุมาทำงานในสถานพยาบาล เป็นต้น 3.People คือ ประชาชน ด้วยการสร้างประกันสุขภาพด้วยตัวเองเพิ่มเติมในกรณีหากป่วยจนต้องนอนพักรักษาตัวใน รพ.สามารถเข้ารับบริการห้องพิเศษได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วยการช่วยกันคนละ 3 บาท/วัน หรือเฉลี่ยปีละ 1,000 บาท เป็นต้น

“โดยแนวคิดการรับบริการห้องพิเศษนั้น ทาง รพ.ได้สร้างอาคารห้องพิเศษ ซึ่งอาจเป็นอาคารใหม่ หรือปรับปรุงจากอาคารเดิม โดยมีห้องพิเศษประมาณ 20 ห้องให้บริการ หากมีประชากรร่วมแนวคิดนี้ 10,000 คนก็จะได้เงินเข้ามาใน รพ. 10 ล้านบาท หากประชาชนป่วยเต็ม 20 ห้อง ทั้งปีใช้เงินแค่ 7 ล้านบาท รพ.ก็ยังเหลือเงินอีก 3 ล้านบาทไปใช้บริการด้านอื่นๆ” นพ.วิชัยกล่าว
ในส่วนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนนั้น ที่ รพ.น้ำพอง และ รพ.อุบลรัตน์ ยังได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการในการส่งผู้พิการเข้าทำงานที่ รพ.อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในมาตรา 35 คือ หากโรงงานใดไม่ประสงค์จะจ้างผู้พิการทำงานตามกฎหมาย ก็สามารถจ้างและให้มาทำงานที่ รพ.ได้ ซึ่งสถานประกอบการนอกจากทำดีแล้วยังได้รับการลดหย่อนภาษีอีก ซึ่งปัจจุบันที่ รพ.น้ำพองมีผู้พิการมาช่วยทำงาน 27 คน และ รพ.อุบลรัตน์อีก 25 คน

นพ.วิชัยบอกว่า ขณะนี้เตรียมเสนอโครงการ รพ.ประชารัฐ โดยชูตัวอย่างจาก รพ.น้ำพอง และ รพ.อุบลรัตน์ ให้แก่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณา โดยอาจนำร่องที่ รพช. 10 แห่งก่อนขยายต่อไป โดยเบื้องต้นอาจเป็น รพ.ที่มีความพร้อมอยู่แล้วในการปรับปรุงอาคาร หรือห้องพิเศษ โดยไม่ต้องสร้างตึก แต่ในอนาคตอาจขยายไปยัง รพ.ที่มีความจำเป็นในการสร้างอาคารผู้ป่วยพิเศษเพิ่มเติมอีก ซึ่งงบสร้างอาคารเฉลี่ยประมาณ 20 ล้านบาท เป็นอาคาร 2 ชั้น 24 ห้องพิเศษ ตรงจุดนี้จะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

ขณะนี้ รพ.อุบลรัตน์เริ่มทดลองทำไปแล้ว คือ สร้างตึกห้องพิเศษ 2 ชั้น 24 ห้อง ส่วน รพ.น้ำพองมีขนาดใหญ่ จึงสร้าง 6 ชั้น 80 ห้อง โดยมีแนวคิดเห็นเป็น รพ.ประชารัฐนั่นเอง

เป็นอีกแนวทางเพื่อลดปัญหาขาดสภาพคล่องของ รพ.รัฐ แต่ทางออกจริงๆ คือ การปฏิรูประบบภาพรวม ซึ่งต้องอยู่ที่ระดับนโยบายว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างไร โดยเฉพาะการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image