ป่าไม้ลงสำรวจที่ รอส.เขาค้อ 1.2 แสนไร่ งัดกม.ฟันทุน-นักการเมืองเบื้องหลังยึดครอง

วันที่ 29 เมษายน 2560 เวลา 10.00 น. นายชลทิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นำคณะผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาที่ดินราษฎรอาสาสมัคร(รอส.)เขาค้อ ลงพื้นที่อำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยเดินทางไปที่บริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ เพื่อสำรวจติดตามดูสภาพพื้นที่ป่าเขาปางก่อ-วังชมภูและป่าเขาโปลกหล่น ที่ทหารขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้  รวมทั้งดูข้อเท็จจริงถึงสภาพการบุกรุกครอบครองที่ดิน รอส. เพื่อก่อสร้างรีสอร์ทและบ้านพักหรูโดยไม่ถูกกฎหมาย โดยมีพ.อ.ถนัดพล โกศัยเสวี รอง ผบ.พล.ม.1 พร้อมนายฐิติศักดิ์ กันเขตต์ นายอำเภอเขาค้อ นำชมสภาพพื้นที่เขาค้อในมุมสูง
จากนั้นนายพยงค์ เรืองระหงส์ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรได้รายงานถึงสภาพพื้นที่ป่าเขาปางก่อ-วังชมพูและป่าเขาโปลกหล่นเนื้อที่ราว 1.2 แสนไร่ ที่ทหารขอให้เพื่อจัดสรรที่ดินให้ รอส.เป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน จากนั้นยังนำแผนผังแปลงที่ดินรอส.ที่สปก.เคยทำการสำรวจรังวัดไว้โดยมีการขึ้นรูปผังแปลงไว้เป็นข้อมูลอ้างอิง
นายชลทิศให้สัมภาษณ์ว่า ในพื้นที่ 1.2 แสนไร่เศษนอกจากจะมีพื้นที่ที่รอส.ใช้ประโยชน์และไม่ใช่เป็นรอส. ก็จะถือโอกาสสำรวจไปในคราวเดียวกัน กรณีในพื้นที่รอส.ก็จะดูการใช้ประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเงื่อนไขที่กองทัพภาคที่ 3 ได้วางไว้หรือไม่ ส่วนราษฎรอื่นก็จะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศคือการพิจารณาแยกแยะระหว่างความเป็นผู้ยากไร้กับนายทุน หากเป็นผู้ยากไร้ก็จะได้รับการดูแลหรือเยียวยาเหมือนกับรายอื่นๆทั่วประเทศ และเป็นไปอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ก็จะมีมาตรการ อาทิ การจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ตามโครงการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) โดยที่ผ่านมาทำไปแล้วมากว่า 6 แสนไร่
นายชลทิศยังตอบข้อถามถึงกรณีนี้จะยังสามารถอยู่ในที่ทำกินเดิมได้หรือไม่ด้วยว่า อยู่ที่เงื่อนไขว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ 1.2 แสนไร่ และกองทัพฯมีความประสงค์จะใช้ประโยชน์ตามวัตถุต่างๆที่มีอยู่ เขาก็จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงนั้น แต่หากพื้นที่แปลงนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้ประโยชน์ได้ ทางกรมป่าไม้ก็จะรับมาพิจารณาให้ราษฎรเป็นรายๆไป
อธิบดีกรมป่าไม้ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดการกับกลุ่มนายทุน นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกยึดครองที่ดินรอส.โดยไม่ถูกกฎหมายด้วยว่า ตามขั้นตอนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายและมาตรการที่มีอยู่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในขั้นตอนเมื่อพบการกระทำผิดทางกรมป่าไม้ก็จะแจ้งเตือนปิดประกาศเจ้าของที่ดินอาจจะมีเอกสารสิทธิ เช่น นส.3 โฉนด สค.1 สามารถยื่นแสดงให้กรมป่าไม้ตรวจสอบได้ หากไม่มีหลักฐานใดๆทางกรมป่าไม้ก็จะดำเนินตามมาตรฐานที่มีไว้ก็คือ การดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าไม้และหากไม่อยู่ในพื้นที่ไม่มีความล่อแหลมก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 25 ให้รื้อถอนออกไป
“สำหรับเรื่องคุณสมบัติของ รอส.คงต้องขอให้ทางกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง เนื่องรายชื่อและคุณสมบัติมีความสลับซับซ้อนและต้องใช้ข้อมูลเดิม ซึ่งมาตรฐานนี้เราเคยใช้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการดูแลภูทับเบิก ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นก็ได้รับการกลั่นกรองจากพม. ในครั้งการกลั่นกรองก็จะอยู่ที่กองทัพภาคที่ 3 และทีมงานที่ดูแลเรื่องรอส.”นายชลทิศ กล่าว
นายชลทิศยังตอบข้อถามถึงความจำเป็นต้องใช้อำนาจ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน รอส.เขาค้อเหมือนกรณีภูทับเบิกหรือไม่ว่า กรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อออกคำสั่ง คสช.ที่ 35/59 กรณีของภูทับเบิกนั้นจัดว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.2484 ขั้นตอนในการดำเนินคดีทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถจะไปจัดการได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่คำสั่งที่ 64/57 และ66/57 มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว แต่กรณีเขาค้อแตกต่างกันเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยพื้นที่เขาค้อเป็นพื้นที่ทหารขอใช้ประโยชน์ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย มีการอนุญาต 5 ครั้ง 8 แปลงพื้นที่ 1.2 แสนไร่เศษ การดำเนินการจึงมีความแตกต่างกั
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า กรณีที่พบการกระทำผิดเช่นพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจากแปลงรอส.หรือแปลงที่ทหารขอใช้ กรมป่าไม้ก็ดำเนินคดีเฉกเช่นเดียวกับรีสอร์ทในพื้นที่อื่น ซึ่งวันนี้มีการตรวจสอบมากกว่า 2,000 แห่ง โดยพบทั้งพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเอกสารสิทธิ พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุญาตส่วนพื้นที่ที่อยู่ในเงื่อนไขการรื้อถอน กรมป่าไม้ก็จะดำเนินคดีทุกรายไปในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ นายชลทิศกล่าวอีกว่า การดำเนินการเรื่องที่ดินมีขั้นตอนตามที่พูดคุยในที่ประชุมไปแล้ว โดยมีความเห็นร่วมกันจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติ และรายชื่อราษฎรใหม่ทั้งหมด จริงอยู่อาจจะมีการเคยสำรวจมาแล้วแต่อาจยังไม่ครอบคลุมและการทำงานอาจเป็นส่วนราชการใดเพียงส่วนหนึ่ง โดยอาจจะมีการสำรวจโดยกองทัพหรือทางอำเภอก็จะมีความแตกต่างกันไป จึงมีการตกลงจะสำรวจร่วมกันทั้งกองทัพ อำเภอและกอ.รมน.ด้วย เชื่อว่ารายชื่อเหล่านี้ภายใน 90 วันจะปรากฏให้ประชาชนได้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้ควรจะมีอยู่ในเงื่อนไขตามคุณสมบัติที่กองทัพกำหนดหรือไม่ และรายชื่อพวกนี้คงไม่เป็นความลับโดยจะทำงานในลักษณะเดียวกันกับภูทับเบิก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นประธานเช่นเดียวกันและคงจะมีการกลั่นกรอง โดยถึงเวลานั้นก็จะนำรายชื่อมาดูว่าใครไม่สมควรจะอยู่หรือไม่อยู่
“ส่วนสิ่งที่ความคลาดเคลื่อนและรับการร้องขอมาก็คือ การดูแล รอส.อาจจะยังไม่ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเต็มที่ ด้วยศักยภาพของรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับทุกส่วนราชการที่จะเดินหน้าไปพร้อมกัน อาจต้องขอให้กระทรวงเกษตรฯกลับลงมาดูในเรื่องส่งเสริมอาชีพเช่น การปลูกพืชเมืองหนาว เพื่อทำให้รอส.เหล่านี้ได้กลับมาใช้ประโยชน์ในที่ดินตามเจตนารมณ์ที่มีไว้ตั้งแต่แรก รวมถึงการท่องเที่ยวและอาจให้ความสำคัญเรื่องเชิงนิเวศน์ สาธารณสุข ฯลฯ ที่ผ่านมาอาจมีการทำงานแบบแยกส่วน แต่นโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ไว้ชัดเจนว่า นับตั้งแต่นี้ไปทางราชการต้องทำงานร่วมกันลดการทำงานเชิงที่เป็นฟังชั่นลง สำคัญที่สุดจะให้พื้นที่เป็นตัวประสานประโยชน์ได้ ประชาชนจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยทุกคนมีสิทธิจะเข้าไปดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน”นายชลทิศกล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image