เริ่มแล้ว!! สกสค.คลอดระเบียบแก้หนี้ครูครบวงจร รวมหนี้สินใน-นอกระบบ ปล่อยกู้ดอกต่ำ 3.5% เริ่มกลุ่มหนี้วิกฤต

เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายพิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ ศธ.แก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเร่งด่วนนั้น สกสค.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการครู จึงหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ โดยเร็วๆ นี้ ตนจะลงนามในระเบียบ สกสค.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ ตามโครงการการฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการการฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ซึ่งจะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้ง ยังมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูที่ครบวงจรด้วย เพื่อไม่ให้ครูไปก่อหนี้เพิ่มอีก โดยเนื้อหาในระเบียบจะกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร เช่น สกสค.จังหวัดมีหน้าที่อะไร ผู้บริหารส่วนกลางมีหน้าที่อะไร ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดมีหน้าที่อะไร และตัวผู้รับสวัสดิการจะต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง เป็นต้น

“การออกระเบียบ สกสค.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ครบวงจน ซึ่งผู้บังคับบัญชา ต้นสังกัด และครอบครัวผู้กู้ จะต้องมาร่วมรับรู้ โดยจะเปิดโอกาสให้ครูที่มีหนี้สินจากแหล่งต่างๆ มากู้เงินจาก สกสค.และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม เพื่อนำไปใช้หนี้จากแหล่งอื่น เป็นการรวมหนี้ไว้ที่แหล่งกู้เดียว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ สกสค.จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาหนี้วิกฤต ถูกฟ้องร้อง หรือกำลังจะถูกฟ้องร้อง ได้เข้ารับการพิจารณาก่อน จากนั้นจะพิจารณาผู้กู้ในกลุ่มวิกฤตรองลงมาตามลำดับ โดยมีวงเงินสูงสุดในการปล่อยกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท” นายพิษณุกล่าว และว่า ส่วนผู้ที่มีหนี้ขั้นวิกฤตจะมีจำนวนเท่าใดนั้น ขณะนี้ข้อมูลต่างๆ อยู่ที่ สกสค.จังหวัดแต่ละแห่งอยู่แล้ว รวมถึง ยังมีข้อมูลผู้กู้ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ด้วย

นายพิษณุกล่าวต่อว่า เพื่อรองรับระเบียบดังกล่าว สกสค.ได้จัดทำคู่มือระเบียบหลักเกณฑ์การดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไล่ตั้งแต่ตัวผู้กู้ ผู้บังคับบัญชาที่จะต้องกำกับดูแล ไปจนถึงครวบครัว สามี ภรรยา บุตร ที่จะต้องรับรู้ ซึ่งจะต้องจัดทำให้ละเอียด เพื่อเป็นช่องทางให้ครูกู้เงินจากแหล่งเงินกู้เดียว ครั้งเดียว ไม่ใช่ไปกู้หนี้ยืมสินซ้ำซากไม่จบสิ้น คาดว่าจะเริ่มนำร่องแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูดังกล่าวได้เร็วๆ นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image