กรมศิลปากรทิ้ง คนโคราชและคนขอนแก่นไม่ทิ้ง อาคารเก่าสถานีรถไฟ มีประวัติศาสตร์สังคมไทยร่วมสมัย

ที่มา : มติชน ฉบับวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2559 หน้า 1

ต้องร่วมกันชยันโตขอบคุณอย่างยิ่งยวด ต่อกรมศิลปากรที่ปฏิเสธคุณค่าอาคารเก่าสถานีรถไฟ ตามที่มีผู้เสนอให้ประกาศเป็นอาคารอนุรักษ์ (ทั้งๆ ไม่ควรทำอย่างนั้น)
เพราะส่งผลกระทบดีเยี่ยมและยิ่งใหญ่ ผลักดันให้มีพลังสำนึกรักบ้านเกิด แล้วสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่นโดยระดมทุนอนุรักษ์อาคารเก่าสถานีรถไฟบางแห่งทั้งที่โคราชและที่ขอนแก่น
แม้เหตุการณ์ข้างหน้ายังไม่มั่นคงแข็งแรงวางใจได้ แต่ความเคลื่อนไหวดีๆ อย่างนี้ นับว่ามีค่านักต่อสำนึกสาธารณะของสังคมไทย
รถไฟเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในโลกเทคโนโลยี ที่ลดความเหลื่อมล้ำการขนส่งมวลชนในระบอบประชาธิปไตย นักโบราณคดีที่ขาดสำนึกเหล่านี้ย่อมปฏิเสธคุณค่าอาคารเก่าสถานีรถไฟ


รัชกาลที่ 5 (ทรงยืนบนหมอนรางรถไฟ ทรงผ้าพันพระศอ) ก่อนทรงทดลองนั่งรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ชาวอังกฤษเป็นแม่งานสร้าง (ภาพจากหนังสือพิมพ์อังกฤษ BLACK AND WHITE, 2 May 1896 หนังสือพิมพ์หายากของ ไกรฤกษ์ นานา)

ทางรถไฟถึงโคราช พ.ศ. 2443
ร.5 โปรดให้ทำทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จ และเปิดการเดินรถตั้งแต่เดือนธันวาคม 2443
ต่อมา พ.ศ. 2460 จึงเริ่มก่อสร้างทางรถไฟต่อจากสถานีนครราชสีมา ไปยังอุบลราชธานี
นับแต่นั้น โคราชถูกเรียกเป็นประตูสู่ที่ราบสูง เพราะการคมนาคมสะดวกที่สุด โดยทางรถไฟ

รถไฟถึงโคราช
เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2434
พ.ศ. 2439 สร้างทางรถไฟเสร็จสายแรก กรุงเทพฯ-อยุธยา ร.5 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟสายแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439
การก่อสร้างได้ดำเนินต่อเนื่องจนถึงสถานีนครราชสีมา โดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2443 ร.5 พร้อมด้วยราชินีเสด็จเปิดเดินรถจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีนครราชสีมา และได้เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งประพาส จ. นครราชสีมา ด้วย

Advertisement


รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ประทับอยู่บนซาลูนหลวงในวันเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ชาวอังกฤษเป็นแม่งานสร้าง (ภาพจากหนังสือพิมพ์อังกฤษ BLACK AND WHITE, 2 May 1896 หนังสือพิมพ์หายากของ ไกรฤกษ์ นานา)

ทางรถไฟ กับทางเกวียน
“เส้นทางรถไฟของเรา อยู่ไม่ไกลจากทางเกวียนมากนัก” เป็นข้อความในบันทึกของ ลูอิส ไวเลอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน ผู้เข้ามาควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟให้แก่รัฐบาลสยามเมื่อ พ.ศ. 2436 (สมัย ร.5)
เขียนบันทึกเล่าเรื่องไว้เมื่อเดินทางโดยรถไฟถึงโคราช ว่าเส้นทางรถไฟสายโคราชตัดผ่านช่องเขาไปทางมวกเหล็ก ปากช่อง เป็นแนวเดียวกับทางเกวียนชาวบ้านที่ใช้เดินทางสมัยโบราณ
(กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย ลูอิส ไวเลอร์ เขียน ถนอมนวล โอเจริญ, วลิตา ศรีอุฬารพงศ์ แปล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2556 หน้า 51)

รถไฟสายแรกในสยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กรมรถไฟจ้างมิสเตอร์แคมป์แบลล์สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ขึ้นเป็นทางสายแรกของกรมรถไฟ เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร
การสร้างทางรถไฟสายนี้ได้เริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2434
วันที่ 21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถจากพระนครถึงสถานีนครราชสีมา และได้เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งประพาส จ. นครราชสีมา ด้วย
การก่อสร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ซึ่งได้กระทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะทาง 264 กิโลเมตร สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 17,585,000.- บาท หรือประมาณกิโลเมตรละ 66,360.- บาท
(จากหนังสือการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2439-2512. พระนคร : รพ.การรถไฟฯ. 2513, หน้า 174-176.)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image