‘กระทบยิ่งกว่าสื่อ คือประชาชน’ ยิ่งกว่าที่เป็น ลึกกว่าที่เห็น เบื้องหลังซับซ้อนของ พ.ร.บ.คุมสื่อ

อธึกกิต แสวงสุข-ณดี ขจรน้ำทรง

หมายเหตุล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. สปท.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … โดยตัดหลักการเรื่องใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมาย หลังมีกระแสคัดค้านจากสื่อมวลชน แต่จะยังคงเรื่องตัวแทนภาครัฐ 2 คน ที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพไว้

เป็นประเด็นร้อนที่สังคมหันมาสนใจอย่างกว้างขวาง สำหรับ “พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”หรือที่เรียกสั้นๆว่า “พ.ร.บ.คุมสื่อ”

30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกมาทำมือไขว้หน้าอกคัดค้านตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จัดแถลงข่าวเกรียวกราว ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เน้นหลักการควบคุมสื่อ โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระ ไม่สอดคล้องหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อกำกับดูแลกันเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทสื่อในการตรวจสอบอำนาจรัฐ ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน จึงขอให้มีการทบทวนเพื่อยกเลิกพ.ร.บ.ดังกล่าว หาไม่แล้วจะ “ยกระดับ” มาตรการการคัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างถึงที่สุด

ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้เข้ามารับตำแหน่งในช่วงสถานการณ์ร้อน ก็ประกาศหนักแน่นในทันที่ที่นั่งเก้าอี้ว่า “จะนำพาสมาคมต่อสู้กับกฎหมายที่กดหัวสื่ออย่างถึงที่สุด”

Advertisement

ล่าสุด ภาครัฐยังชี้ว่า ไม่ใช่เพียงสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว เท่านั้นที่จะอยู่ในความครอบคลุมของพ.ร.บ.ดังกล่าว หากแต่รวมถึง “เพจดัง” ในโซเชียลอีกด้วย หากมีรายได้จากการทำเพจ ก็นับเป็นสื่อเช่นกัน สร้างความฮือฮาในสังคมขึ้นมาอีกระลอก

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาสื่อสาขาต่างๆ ก็พร้อมใจกันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กของตัวเองโดยมีข้อความประกอบภาพว่า “หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กลุ่มสื่อออกมาจับมือแข็งขันในการคัดค้านพ.ร.บ.นี้ โดยเน้นย้ำเรื่องผลกระทบต่อประชาชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไม่น้อยในสังคมกลับรู้สึก “สะใจ”

Advertisement

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ใบตองแห้ง

สื่อหลักเกร็ง เพจดังดับ ประชาชนรับเคราะห์

อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” มองเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนกังวลในกฎหมายฉบับนี้ว่า ส่วนที่จะเดือดร้อนทันทีคือสื่ออิสระเช่นแฟนเพจเฟสบุ๊ก ส่วนสื่อกระแสหลักในขั้นตอนออกใบอนุญาตเริ่มแรกอาจไม่เดือดร้อน แต่ต่อไปจะเกร็ง ต้องระวังตัวกลัวจะโดนถอนใบอนุญาต ถ้าสื่อกระแสหลักคิดว่าตัวเองไม่เดือดร้อนจะเป็นปัญหา นับว่าดีที่ช่วยกันคัดค้าน

ส่วนเหตุที่กระแสต่อต้านการควบคุมสื่อครั้งนี้ได้แนวร่วมจากประชาชนน้อย อธึกกิตมองว่าเป็นเพราะประชาชนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายสื่อ แต่คนที่กระทบมากกว่าสื่อคือประชาชน การบังคับว่าทุกคนต้องจดทะเบียนทำลายหลักการที่ว่าประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ ทุกวันนี้เป็นยุคสมัยของโลกการสื่อสาร จะเห็นว่าแฟนเพจเฟสบุ๊กอย่าง “จ่าพิชิต” หรือ “แหม่มโพธิ์ดำ” มีบทบาทสูงในการตรวจสอบและสะท้อนอารมณ์สังคม อาจถูกบ้างผิดบ้างแต่ช่วยถ่วงอำนาจในระดับพื้นฐาน ถ้าไม่มีส่วนนี้จะกระทบสิทธิของคนที่จะตรวจสอบรัฐ

“เราต้องชี้ให้เห็นว่าจะกระทบสิทธิของประชาชนทันที กฎหมายนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อทำลายล้างสื่ออย่างเดียว ผลจะเกิดกับชาวบ้านหนักกว่า” ใบตองแห้งกล่าว

ชาวบ้านเบื่อสื่อเพราะ ‘การเมือง’

“ความเบื่อหน่ายสื่อเป็นเรื่องทางการเมือง เมื่อเกิดสื่อเอียงข้างก็ไปทำลายสิทธิของประชาชน พอพูดเรื่องนี้ก็จะโทษกันว่าสื่อที่มีปัญหาคือสื่อเทียม แต่สื่อกระแสหลักเป็นผู้ก่อปัญหา กระทบเกียรติภูมิสื่อในปัจจุบัน ไม่มีใครกล้าพูดเพราะตัวเองก็เต็มปาก แต่เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนแทนสื่อ องค์กรสื่อต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชนยังไง

“การเปรียบเทียบใบอนุญาตสื่อกับหมอนวด เป็นการจงใจพูดให้ไขว้เขว เนื่องจากประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ แต่ประชาชนทุกคนเป็นหมอนวดไม่ได้ 1.ประชาชนมีเสรีภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวข่าวสาร 2.ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อาชีพสื่ออยู่บนเสรีภาพพื้นฐานนี้เท่าเทียมกับประชาชน การรายงานข่าวและแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐาน ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตความสามารถเหมือนหมอนวด เภสัชกร หรือทนายความ”

อธึกกิตร่ายยาว ทั้งยังชี้ให้เห็นปัญหาการกำกับดูแลกันเองว่า สื่อจะได้เปรียบเวลามีปัญหากับประชาชน แต่สิ่งที่สื่อใช้อยู่คือเสรีภาพของประชาชน จะไปควบคุมเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ กลไกกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเถียงกันเรื่องจรรยาบรรณที่กฎหมายคุมไม่ถึ

“สิ่งที่เขาพูดกันมาคืออยากให้มีองค์กรช่วยดูแลเวลาประชาชนต้องฟ้องสื่อหรือสู้ทางกฎหมายไม่ได้ องค์กรสื่อออกแถลงการณ์ประณามได้ แต่ถ้าให้สื่อควบคุมกันเองจะมีอคติกันได้ เพราะจริงๆคุณเป็นคู่แข่งกัน พอเวลามีปัญหา ก็จะเป็นเสียงข้างมากกระทืบเสียงข้างน้อย โดยหลักวิชาชีพสื่อเราต้องปกปองเสรีภาพเสียงข้างน้อย

“สิ่งที่เราต้องยอมรับคือบางทีสื่อเมินเฉยเวลาที่มีเรื่องละเมิดศีลธรรมแต่ไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย เช่นการลงภาพล่อแหลม อาจต้องประณามให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ หรือการละเมิดสิทธิคนตัวเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อสู้ องค์กรสื่อเข้าไปช่วยตรงนี้ได้ กรอบมีแค่นี้ แต่การควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในยุคที่ประชาชนเป็นสื่อได้ คุณจะไปคุมทุกเฟสบุ๊กเหมือนอย่างที่นายกฯพูดว่า “สื่อต้องคุมกันเองให้ได้” นั้นเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลยังคุมไม่ได้เลย”

สื่อหนุนจำกัดเสรี แต่วันนี้มาต้านพ.ร.บ. ?

อธึกกิตบอกว่าต้องมองในภาพรวม คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระบบการเมืองและสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆที่ออกหลังรัฐประหาร คือ การพยายามสร้าง “รัฐแห่งความมั่นคง” ที่ควบคุมควบคุมทุกอย่างไว้ภายใต้อำนาจของรัฐราชการ

“เขาโฆษณาว่าจะเป็นรัฐแห่งความมั่นคงที่ปกครองโดยคนดีที่ประชาชนต้องเชื่อฟังแบบสิงคโปร์ ต้องถูกจำกัดเสรีภาพเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง สื่อ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง คำถามคือสื่อตระหนักในข้อนี้ไหม ขณะที่สื่อบางส่วนเห็นด้วยกับการจำกัดเสรีภาพคนอื่น แล้วจะต่อต้านพ.ร.บ.สื่ออย่างเดียว คนในองค์กรสื่อก็ไปชงลูกตัวนี้เองและคิดว่าจะควบคุมกันเอง ไม่เข้าใจปรัชญาระบอบการปกครองที่เขาพยายามสร้างคือรัฐแห่งความมั่นคงที่ต้องการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสื่อสนับสนุนระบอบนี้คุณก็หนีไม่พ้น อยู่ที่ว่าจะต่อรองได้แค่ไหนเท่านั้นเอง” อธึกกิตกล่าว

ณดี ขจรน้ำทรง

ฮิดเดน อเจนด้า และภาวะซ้ำซ้อน

มาดูอีกมุมมองของ ณดี ขจรน้ำทรง นักวิชาการอิสระด้านศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HIC) ซึ่งทำงานในระดับนานาชาติ ตอบสั้นๆอย่างตรงไปตรงมาว่า หลังจากอ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว รู้สึกว่าดีด้วยซ้ำไป ถ้าไม่ได้ถูกผลักดันในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากหน่วยงานอย่างกสทช. กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อรวมกันแล้ว ยังมีช่องว่างอยู่ แถมอำนาจยังไม่มีความสมดุล เพราะพ.ร.บ.คอมพ์ อำนาจเยอะมาก ทุบทีเดียวตาย ในขณะที่กสทช. เป็นสาย ‘ไปเรื่อยๆ’ เสียมากกว่าถ้าไม่นับในยุคที่คนในกองทัพเข้ามามีบทบาท อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่าจะไปซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.คอมพ์ ที่มีอยู่แล้วหรือไม่ เพียงแต่พ.ร.บ.คุมสื่อมีความ ‘ครอบจักรวาล’ เท่านั้นเอง

“จะออกกฎหมายก็ออกได้ แต่ต้องดูในรายละเอียด และพิจารณาว่าใครเป็นคนออก ไม่รู้ว่าออกมาโดยมีเจตนาไม่ให้ตรวจสอบภาครัฐหรือเปล่า เพราะตอนนี้สื่อกว้างมาก ไม่ใช่แค่สื่อกระแสหลัก มีทั้งกระแสรอง และสื่อที่ไม่ได้ผลิตเนื้อหาด้วยตัวเอง พูดตรงๆว่า ถ้าพ.ร.บ.นี้ ไม่ได้ออกในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือมีฮิดเดนอเจนด้า คิดว่าไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้น ดีด้วยซ้ำ เพราะกสทช.กับพ.ร.บ.คอมพ์ มีช่องว่าง มีกรณีตัวอย่างก่อนหน้านี้คือสื่อหลักรายงานผิดพลาดว่าวัยรุ่นคนหนึ่งทำแท้ง เป็นข่าวใหญ่ ปรากฏว่าจริงๆแล้วเป็นอุบัติเหตุ องค์กรสิทธิฯ ก็ไปบอกสื่อหลัก เขาโอเค ขอโทษ แก้ไขให้ แต่เว็บไซต์เล็กๆ ที่ลอกข่าวจากสื่อหลักเอาเนื้อหานั้นไปใช้ และขยายวงกว้างไปแล้ว พ.ร.บ.คุมสื่ออาจจะมาช่วยตรงนี้ไหม เพราะเว็บเล็กเว็บน้อยที่ไม่ได้จดทะเบียนสื่อ ไม่ต้องมานั่งปฏิญาณจริยธรรมเหมือนสื่อหลัก อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นจะซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.คอมพ์หรือไม่ ถ้าซ้ำซ้อนจะมีไปทำไม ถ้ามองในแง่ควบคุมสื่อ จะเป็นการบีบให้ตายเลยหรือไม่ ทุกอย่างในอินเตอร์เนต อยู่ในพ.ร.บ. คอมพ์ ซึ่งบีบก็ตายอยู่แล้ว แข็งมาก”

ณดียังบอกอีกว่า สถานการณ์ที่สื่อออกมาค้านพ.ร.บ.คุมสื่อ เห็นชัดว่าเป็นความกลัวเรื่องเสรีภาพของสื่อหลักมากกว่าอย่างอื่น แต่ส่วนตัวคิดว่า สื่อมวลชนไทยเองมองแคบไป เพราะยังมีประเด็นอื่นด้วย ส่วนจะค้านสำเร็จหรือไม่นั้น เดาเกมไม่ถูก แต่ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตอน ‘ซิงเกิลเกตเวย์’ หรือพ.ร.บ.คอมพ์ ที่เปลี่ยนรูปไปจนเป็นพ.ร.บ. เผด็จการเรียบร้อยแล้ว

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของมุมมอง ที่มาที่ไป และปัจจัยที่อาจซับซ้อนหลากมิติยิ่งกว่าที่เคยรับรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image