นักวิจัยบังเอิญพบ “หนอนกินพลาสติก”

(ภาพ-Federica Bertocchini, Paolo Bombelli and Chris Howe)

“โพลีเอทิลีน” หรือถุงพลาสติกที่เราใช้กันเป็นพลาสติกที่พบกันทั่วไปมากที่สุดแต่ละปีโลกผลิตถุงพลาสติกหลากหลายรูปแบบออกมามากถึง 80 ล้านเมตริกตัน ประเมินกันว่าแต่ละคนใช้ถุงพลาสติกนี้มากถึง 230 ใบต่อปี ถุงโพลีเอทิลีนเกรดต่ำที่ใช้กันทั่วไปใช้เวลานานถึง 100 ปีกว่าจะเน่าเปื่อยในสภาพธรรมชาติ ที่ดีหน่อยสามารถอยู่ได้นานกว่า 400 ปี ขยะพลาสติกโพลีเอทิลีนจึงเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

“เฟเดอริกา แบร์ทอกคินี” นักวิจัยสังกัด สภาวิจัยแห่งชาติสเปน (ซีเอสไอซี) และ สถาบันชีวะแพทย์และชีวะเทคโนโลยีแห่งแคนทาเบรีย ในเมืองซานทันเดร์ ประเทศสเปน ที่เป็นนักเลี้ยงผึ้งสมัครเล่น ค้นพบวิธีการใหม่ที่สามารถย่อยสลายพลาสติกโพลีเอทิลีนให้เร็วขึ้นโดยใช้วิธีการธรรมชาติ นั่นคือการปล่อยให้ “หนอนผีเสื้อกลางคืน” หรือ “หนอนแว็กซ์” หรือ “ฮันนี เวิร์ม” จัดการกินแล้วย่อยสลายมันนั่นเอง

แบร์ทอกคินี พบความลับดังกล่าวโดยบังเอิญ เมื่อพยายามทำความสะอาดรังผึ้งเลี้ยงของตนเองแล้วพบหนอนแว็กซ์เหล่านี้จำนวนหนึ่ง เธอเก็บมันใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงเก็บไว้ในห้องขณะที่ทำความสะอาดรังผึ้ง แต่พอกลับไปอีกทีพบว่าหนอนในถุงกระจายไปทั่วห้อง เมื่อตรวจดูอย่างละเอียดพบว่า หนอนผีเสื้อเหล่านี้กัดแทะถุงเป็นรูเต็มไปหมดเพื่อที่จะออกมาข้างนอก เธอจึงเริ่มโครงการทดลองนี้ตามมาในทันที

จากการทดลองช่วงแรกๆพบว่า เมื่อจับหนอนผีเสื้อใส่ถุงพลาสติกโพลีเอทิลีน มันสามารถแทะกินเป็นรูได้ภายใน 1 ชั่วโมง เมื่อตรวจสอบพบว่าตัวหนอนสามารถย่อยสลายถุงพลาสติกได้ เพราะมันมีพันธะเคมีแบบเดียวกับที่พบในขี้ผึ้ง (บีแว็กซ์) ทีมวิจัยทดลองต่อจนพบสัดส่วนเวลาที่แน่นอนมากขึ้น กล่าวคือ ตัวหนอน 100 ตัวสามารถย่อยสลายโพลีเอทิลีน 92 มิลลิกรัมได้ภายในเวลา 12 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ

Advertisement

ทีมวิจัยพบอีกว่า ตัวหนอนเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของ โพลีเอทิลีนให้กลายเป็น “เอทิลีนไกลคอล” ซึ่งเป็นสารประกอบแอลกอฮอล์ไร้สี ไร้กลิ่น รสหวานแต่มีพิษหากกินเข้าไป “เอทิลีนไกลคอล” นั้นมีการนำมาใช้เป็นสารต่อต้านการเยือกแข็ง และคูลแลนท์ หรือสารทำความเย็น และยังวิจัยต่อจนพบด้วยว่า แม้ในขณะยังอยู่ในรัง หรือเป็นเพียงดักแด้ มันก็สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ ซึ่งแสดงว่า ไม่ว่าจะเป็นขณะกินเข้าไปหรือขณะสัมผัสกับพลาสติกตอนที่เป็นดักแด้หรืออยู่ในรัง หนอนผีเสื้อกลางคืนก็จะสร้างเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมีผลในการย่อยสลายพลาสติก

ทีมวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถแยกเอ็นไซม์ดังกล่าวออกมาได้ และหาทางผลิตมันออกมา เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมทำลายพลาสติกต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image