นักวิทยาศาสตร์นาซา ทึ่ง ‘เสียงเงียบ’ จากดาวเสาร์

ภาพดาวเสาร์ถ่ายโดยแคสซินีเมื่อวันที่ 29 เมษายน (NASA/JPL-Caltech/SSI/Kevin M. Gill)

ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แห่งสหรัฐอเมริกา พากันประหลาดใจกับสิ่งนอกเหนือความคาดหมายที่เกิดขึ้นกับยานสำรวจแคสซินี ระหว่างการดิ่งลงสู่ช่องว่างแคบๆ ระหว่างวงแหวนชั้นในสุดกับชั้นบรรยากาศบนสุดของดาวเสาร์ ซึ่งมีระยะห่างเพียง 2,000 กิโลเมตร (กม.) เมื่อเร็วๆ นี้

การดิ่งลงดังกล่าว เป็นครั้งแรกในจำนวนทั้งหมด 22 ครั้งของการเดินทางครั้งสุดท้ายของแคสซินี ซึ่งในที่สุดจะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์และเสียดสีจนลุกไหม้เป็นจุณในวันที่ 15 กันยายนนี้ ตามแผนภารกิจสุดท้ายที่นาซาเรียกว่าเป็น “แกรนด์ฟีนาเล” ของแคสซินีนั่นเอง

ภาพดาวเสาร์มองจากบริเวณขั้วเหนือ ถ่ายโดยแคสซินีเมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา (NASA/JPL-Caltech/SSI/Kevin M. Gill)

การดิ่งลงดังกล่าวทำให้แคสซินีเข้ามาอยู่ในวงโคจรที่ระดับสูงจากขอบบนสุดของชั้นบรรยากาศดาวเสาร์เพียง 1,600 กม. ระหว่างการดิ่งครั้งแรกทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการแคสซินี คาดหมายว่า ยานที่ดิ่งลงด้วยความเร็วสูงถึง 124,000 กม./ชม. อาจเป็นอันตรายจากอนุภาคขนาดเล็กที่คาดว่าจะมีอยู่มากมายในบริเวณช่องว่าง 2,000 กม.จนจำเป็นต้องปรับให้แคสซินีหันแผงเสาอากาศที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4 เมตรให้ทำหน้าที่เป็นเหมือนโล่กำบังตัวยานจากอนุภาคเหล่านั้น ที่แรงปะทะอาจทำให้ยานพิการหรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ

แต่เอิร์ล เมซ ผู้อำนวยการโครงการแคสซินีจากห้องปฏิบัติการเจ็ท โพรพัลชั่น ของนาซา ยอมรับว่า เอาเข้าจริงบริเวณดังกล่าวกลับเป็นเหมือนช่องว่างๆ ขนาดใหญ่เท่านั้นเอง ทำให้ทุกคนพากันพิศวงว่า เพราะเหตุใดระดับอนุภาคฝุ่นในบริเวณช่องว่างนั้นจึงต่ำกว่าที่คาดหมายไว้มาก และต้องวิเคราะห์หาเหตุผลกันต่อไป ในขณะที่แคสซินีก็จะยังคงอยู่ในวงโคจรเดิมไปจนกระทั่งถึงการดิ่งลงครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคมต่อไป

Advertisement
ภาพกระแสบรรยากาศเคลื่อนเป็นวงบริเวณขั้วเหนือของดาวเสาร์ แคสซินีถ่ายไว้เมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา (NASA/JPL-Caltech/SSI/Kevin M. Gill)

การที่อนุภาคในพื้นที่ดังกล่าวมีน้อยสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ของนาซาก็จริง แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้ด้วยเช่นกัน เพราะหมายความโอกาสที่แคสซินีจะปลอดภัยจากการดิ่งลง 21 ครั้งที่เหลือมีสูงมากขึ้น และโอกาสที่จะพบอะไรใหม่ๆ ที่เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่านี้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

ในระหว่างการดิ่งลง มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานแคสซินีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้นที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ด้วยการยื่นออกมานอกโล่กำบัง ชิ้นหนึ่งก็คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า “เรดิโอ แอนด์ พลาสมา เวฟ ไซนซ์” หรือ “อาร์พีดับเบิลยูเอส” ซึ่งปกติใช้ตรวจหาคลื่นพลาสมา แต่สามารถนำมาใช้ในการ “ฟัง” เสียงอนุภาคต่างๆ พุ่งชนแผงเสาอากาศที่ทำหน้าที่เป็นโล่ได้เช่นเดียวกัน การพุ่งชนดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของเสียงทำนองเดียวกับเสียงเปาะแปะ ที่จะดังแทรกเสียงหวีดหวิวและเสียงอี๊ดอ๊าดของคลื่นอนุภาคที่มีประจุหรือพลาสมาซึ่ง “อาร์พีดับเบิลยูเอส” ถูกออกแบบมาให้ตรวจจับนั่นเอง

แต่เสียงที่อาร์พีดับเบิลยูเอสบันทึกได้เมื่อวันที่ 26 เมษายนในการดิ่งลงครั้งแรก เสียงคลื่นพลาสมาดังกล่าวกลับดังชัดเจนจนทุกคนประหลาดใจ แทบไม่มีเสียงอื่นโดยเฉพาะเสียงเปาะแปะของการชนที่มีให้ได้ยินน้อยมาก เมื่อเทียบกับเสียงที่บันทึกไว้เมื่อ 18 ธันวาคม ปี 2016 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแคสซินีพุ่งผ่านแนวระนาบของวงแหวนดาวเสาร์ ที่เสียงชนจะเริ่มมีมากขึ้นแล้วเพิ่มสูงสุดก่อนลดระดับลงจนเหลือน้อยที่สุดเมื่อหลุดจากแนววงแหวนนั่นเอง

Advertisement

วิลเลียม เคิร์ท นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไอโอวา หัวหน้าทีมประจำอุปกรณ์อาร์พีดับเบิลยูเอสยอมรับว่า งงอยู่ไม่น้อยเพราะไม่ได้ยินเสียงที่คาดว่าจะได้ยิน แม้ว่าจะตั้งใจฟังกี่เที่ยวก็ตามก็ยังนับได้ไม่ถึงสิบอยู่นั่นเอง จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า แคสซินีชนเข้ากับอนุภาคเพียง 2-3 ครั้ง ระหว่างการดิ่งลงครั้งแรก

แถมแต่ละชิ้นมีขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน หรือขนาดประมาณอนุภาคที่ปนอยู่กับควันไฟเท่านั้นเองอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image