ปลัดพม.ระดมสมองต้านภัยค้ามนุษย์ เพิ่มโทษหนัก จนท.รัฐเอี่ยวโทษ 2 เท่า

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุม “ประชารัฐร่วมใจ…ต้านภัยค้ามนุษย์” ครั้งที่7 ณ โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคราชการ และองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อระดมทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

ปลัดพม. กล่าวว่า พม.ได้หารือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเช่นที่เคยปฏิบัติต่อเนื่องมา ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงแรงงาน กระทรวง การต่างประเทศ และภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อรวมพลังและเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแนวการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนในเบื้องต้น คือ ความหมายการค้ามนุษย์ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่28 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่า มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคำว่า “การค้ามนุษย์” กับ “การค้าประเวณี” การค้ามนุษย์ เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล โดยเฉพาะจากผู้หญิง เด็กหญิง และเด็กชาย ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม มีนายหน้าเป็นธุระ จัดหา ชักชวน หรือถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึงแม้จะไม่มีสภาพถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือบังคับให้ค้าประเวณี ก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ส่วนการค้าประเวณี เป็นเรื่องของการสมัครใจขายบริการทางเพศของบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย ไม่มีการกักขัง หน่วงเหนี่ยว


ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ กฎหมายค้ามนุษย์ได้เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้วแต่ฐานความผิด ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการดำเนินคดีของไทยว่าจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรม

สำหรับความคืบหน้าและผลงานสำคัญของรัฐบาลในปี 2559 นอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายข้างต้นแล้ว ยังปรากฏในรายงาน ทิปรีพอร์ท ล่าสุดที่รายงานสหรัฐฯ ไป (ในเดือนมกราคม และมีนาคม ) ได้แก่
• ภาพรวมการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยในชั้นพนักงานสอบสวน333 คดี เป็นคดีทางเพศมากที่สุด มีผู้ต้องหา 600 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 10 ราย
• การยึดทรัพย์กับผู้กระทำความผิดมากถึง 784 ล้าน

Advertisement


นายไมตรีกล่าวว่า งพม.ได้ให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งเรื่องปัจจัยสี่ การฝึกทักษะชีวิต และฝึกอาชีพ โดยมีผู้เสียหายเข้ารับการคุ้มครอง561 คน ในจำนวนนี้ ได้ทำงานหารายได้ก่อนกลับภูมิลำเนาหรือประเทศต้นทาง 196 คน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงาน ด้วยเหตุเนื่องจากอายุต่ำกว่า 15 ปี มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พม.ได้เดินหน้าหาแนวทางและมาตรการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เสียหาย ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการมีงานทำในระหว่างการคุ้มครอง โดยกำหนดให้ผู้เสียหายฯ ทั้งคนไทยและ คนต่างด้าว ที่ผ่านการฝึกอาชีพแล้ว หรือขึ้นทะเบียนรอจัดหางาน ได้รับเงินวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วัน สิ้นสุดการจ่ายเงินเมื่อผู้เสียหายฯ ได้งานทำ หรือสิ้นสุดกระบวนการคุ้มครอง โดยเบิกจ่ายจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

2.แนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตจัดตั้งสถานะคุ้มครองเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เสียหายมีสิทธิและทางเลือกในการขอรับความช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมือในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ทั้งนี้ จะต้องหารือในรายละเอียดถึงความพร้อมของภาคเอกชน ข้อจำกัด และสิ่งที่ทางกระทรวง พม. จะให้การสนับสนุนได้

ทั้งนี้พม. ในฐานะหน่วยประสานงานหลักในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จะทำงานร่วมกับพลังประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image