หมู่บ้านโลกลืม ไม่มีไฟฟ้า-สะพาน 50ปี บุกร้องผู้ว่าฯชุมพรช่วย หน้าฝนเข้าออกไม่ได้

สภาพสะพานไม้ชั่วคราวที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 9 พฤษภาคม ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร นายขิน พูลแก้ว อายุ 60 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร พร้อมด้วย นางศุภิดา เมืองงาม อายุ 42 ปี และนักเรียนชายหญิงระดับมัธยมต้น และผู้สูงอายุ ประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุมเพื่อขอความช่วยเหลือ กรณีที่ชาวบ้านหมู่บ้านไม่มีสะพานและไฟฟ้ามานานกว่า 50 ปี หลังเคยไปยื่นหนังสือที่ว่าการ อ.ทุ่งตะโก แต่ถูกปฏิเสธ จึงต้องการเดินทางมาขอความช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด มีนายเลิศพรชัย ไชยฤทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ลงมาพบผู้ชุมนุมก่อนเชิญไปเจรจากันในห้องประชุม

นายขิน เปิดเผยว่าหมู่บ้านสามแยกจำปาแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งฝั่งที่พวกตนอาศัยตั้งอยู่บนยอดเขาตะโก มีบ้านเรือน 20 หลังคาเรือน มีชาวบ้านประมาณ 200 คน มีลำห้วยดินสอและคลองเพราล้อมรอบ ทำให้การเข้าออกหมู่บ้านต้องผ่านลำน้ำ ในหน้าฝนระดับน้ำสูงมากกว่า 10 เมตรนานถึง 4 เดือนไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้นักเรียนต้องหยุดเรียน คนทั้งหมู่บ้านลำบากอย่างหนัก ชาวบ้านพยายามทำสะพานไม้ติดต่อกันมานานหลายสิบปี แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถูกน้ำพัดพาสะพานไม้จนพังหายไปกับสายน้ำทุกครั้ง จนทุกคนหมดเงินที่จะใช้ทำสร้างสะพานไม้แล้ว จนถึงเวลานี้ก็เป็นสะพานไม้ชุดสุดท้ายที่ไปขอเศษไม้จากสวนป่าทุ่งตะโกมาสร้างเป็นสะพานแต่ก็ได้ไม้ขนาดสั้น จึงต้องใช้ลวดสลิงผูกติดกับแท่งซีเมนต์พอให้สามารถเดินและขี่รถจักรยานยนต์ข้ามได้ ช่วงนี้น้ำสูงไม่มาก จึงสามารถนำรถยนต์เข้าไปขนผลิตผลทางการเกษตรเข้า-ออกได้ ส่วนอีกด้านของหมู่บ้านก็ติดคลองเพรา เมื่อถึงหน้าฝนจะมีระดับน้ำที่เชี่ยวกราก สูงกว่า 3 เมตร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม และปัจจุบันเกิดฝนตกบ่อย ทำให้น้ำป่าไหลท่วมจุดเข้าออกหมู่บ้านครั้งละหลายวัน พวกตนตั้งใจจะไปยื่นหนังสือที่ว่าการ อ.ทุ่งตะโก แต่เจ้าหน้ารับเพียงหนังสือไว้เท่านั้น โดยไม่มีการสอบถามอะไร


นางศุภิดากล่าวว่าในหมู่บ้านดังกล่าวไม่เคยมีไฟฟ้าใช้ ต้องขอต่อสายไฟจากเพื่อนบ้านที่อยู่ไกลถึง 1.5 กิโลเมตร เสียค่าไฟเดือนละ 2,000 บาทต่อครัวเรือน ที่ผ่านมาเคยเสนอเรื่องผ่านหลายหน่วยงานระดับ อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตั้งแต่นายขินยังเป็นวัยรุ่น จนปัจจุบันอายุ 60 ปี แต่ปัญหาของชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านขอเพียงอุปกรณ์ในการทำสะพานเท่านั้น ส่วนแรงงานชาวบ้านจะมาช่วยกันทำเอง เพราะค่าวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 500,000 บาท แต่ช่วยชาวบ้านได้มากถึง 200 คน



“เวลาเด็กๆ หรือผู้สูงอายุเจ็บป่วย ต้องแบกใส่บ่าหรือช่วยกันหามฝ่าลำน้ำเพื่อให้ญาติที่อยู่อีกฝั่งมารับตัวส่ง รพ. บางครั้งเกิดฝนตกหนักผิดฤดูติดต่อกันหลายวัน น้ำป่าจะไหลทะลักลงมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงชาวบ้านจึงไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านเพื่อหาซื้ออาหารได้ ส่วนนักเรียนก็ต้องหยุดเรียนหลายวัน จึงขอความช่วยเหลือจากทางการ อย่าปล่อยให้เป็นหมู่บ้านของพวกเราเป็นหมู่บ้านที่โลกลืมเช่นนี้เลย” นางศุภิดากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image