สัญญาณการเมือง’บัญญัติ บรรทัดฐาน’ ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มประชาธิปัตย์จะออกมา

บัญญัติ บรรทัดฐาน (แฟ้มภาพ)

ท่าทีของคนการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ’มีชัย ฤชุพันธุ์’ มีเสียงโห่มากกว่าเสียงเชียร์

เพราะร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ถูกเปิดเผย เต็มไปด้วยเงื่อนปม ซ่อนเงื่อนงำ กับดักทางการเมืองมากมาย

เจตนารมณ์อันเป็นกลไกข้อห้ามต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในบทบัญญัติมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จำนวน 10 ข้อ ถูกนำมาติดตั้งอย่างครบถ้วน

ล้อมคอกกลไกฝ่ายบริหารในอนาคตต้องปฏิบัติตามแผน คสช. ไปถึง 20 ปี หากฝ่าฝืนอาจเจอองค์กรอิสระที่ถูกเพิ่มอำนาจตัดสินตะเพิดให้ออกไปจากกระดานการเมืองอีกคำรบ

Advertisement

คำนิยามของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ถูก “มีชัย” และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติไว้ใต้วาทกรรมสวยหรูว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

แต่สายตานักการเมืองเก่า-เก๋าประสบการณ์ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 7 พรรคเก่าแก่คู่การเมืองไทยร่วม 70 ปี ที่เคยผ่านระบบเลือกตั้งสารพัดรูปแบบ ทั้งสูตรบัตรใบเดียว บัตรเลือกตั้งสองใบ เขตเลือกตั้งพวงใหญ่ 3 คน ไปจนระบบ one man one vote

เขากลับมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ที่คิดค้นสูตรบัตรเลือกตั้งใบเดียวรูปแบบใหม่ กากบาทครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้การเมืองไทยถอยหลัง และนำไปสู่หายนะมากกว่าพาประชาธิปไตยถึงเส้นชัย

Advertisement

“ผมเห็นใจ กรธ. เพราะมีข้อจำกัดเยอะ กรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 คงทำให้ออกนอกกรอบลำบาก ปัญหาที่สำคัญคิดว่าช่วงหลังอาจเพราะการตลาดจะเข้ามามีบทบาทกับทุกเรื่องในบ้านเมืองมากเกินไป เลยมักมีนวัตกรรมขึ้นมาทำกฎหมายซึ่งมันไม่จำเป็น การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้เหมือนกับถอยหลังไปสู่การเมืองก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540”

“พอเน้นนวัตกรรมมาก บางเรื่องซึ่งมันดีอยู่แล้วก็ไปเปลี่ยนมัน เช่น ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ความคิดนี้มันเป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการคณะหนึ่ง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรียกว่าคณะกรรมพัฒนาการเมือง มี นพ.ประเวศ วะสี (ราษฎรอาวุโสเป็นประธาน) ผมเป็นรองประธานกรรมการ วันที่มีคณะกรรมการคณะนี้ขึ้นมา การเมืองเราไม่มีเสถียรภาพ มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวมีประชาธิปไตย เดี๋ยวมีรัฐประหาร”

“แต่สุดท้ายมาลงตรงที่ เป็นเพราะพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดความพร้อม จึงได้ข้อสรุปว่าทางหนึ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความพร้อมมากขึ้น คือความพร้อมด้านบุคลากร บุคลากรทางหนึ่งอยู่เขตเลือกตั้ง คลุกคลีประชาชน รับปัญหาเขามาแก้ไข แต่มันควรมีบุคลากรอีกชุดที่ทำยุทธศาสตร์รวมของประเทศ ที่มีความพร้อมจริงๆ นึกถึงนักวิชาการ ข้าราชการ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เยอะๆ ถ้าได้คนชุดนี้เป็นบุคลากรของพรรค พรรคน่าจะเข้มแข็งมากขึ้น เวลามีรัฐบาลชุดนี้อาจไปนั่งฝ่ายบริหาร พอเริ่มมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไปรับเอาความคิดของคณะกรรมการมา จึงเกิดระบบเลือกตั้ง 2 ใบ”

“ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การใช้เลือกตั้งระบบนี้ทำให้พรรคเข้มแข็งมากขึ้น สำคัญที่สุดจะว่ายุ่งยากในการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ ผ่านมา 15 ปี คิดว่าคนเข้าใจ และมันตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ เวลาประชาชนไปเลือกตั้ง เอ๊ะ… ส.ส.เขตคนนี้อยู่พรรคไม่ดี แต่เป็นคนดี เลือกเขาสักคน แต่พรรคที่สังกัดอาจไม่เข้าท่าจึงไปเลือกพรรคโน้น นี่เรียกว่าตรงเจตนารมณ์ ไม่มีความเสียหายอะไรเลย”

“ระบบบัตรใบเดียวคนมีประสบการณ์อย่างพวกผม ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่บัตรใบเดียว จนถึงบัตรเลือกตั้งสองใบ เราพบความจริงว่าระบบบัตรใบเดียวไปให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครสูงกว่าพรรค ในหลักทฤษฎีถือว่าผิด พอเปลี่ยนมาบัตรใบเดียวเอาผู้สมัครเป็นหลัก พรรคถูกลดความสำคัญลง เท่ากับเอาพรรคไปแอบหลังผู้สมัคร”

“แล้วฟันธงไว้เลยว่าถ้าระบบนี้เดินหน้าต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นประการแรกคือ ประมูลตัวผู้สมัครที่มีฐานเสียงแข็งแรงมาก ทีท่าว่าจะได้รับเลือกตั้งแน่นอน โดยเฉพาะพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ฟันธงได้เลยว่าสิ่งนี้เกิด”

“บัญญัติ” ทำนายต่อว่า ถ้าบังเอิญร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ-ประกาศใช้-มีการเลือกตั้ง ห้วงเวลาที่ปั่นป่วนที่สุดคือช่วงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรค ทั้งเพื่อไทย และ ปชป. จะถูกทอนกำลังจากระบบเลือกตั้งใหม่ สวนทางกับพรรคขนาดกลางที่จะได้จำนวนเสียง ส.ส.เพิ่มขึ้น อำนาจการต่อรองจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ

“เมื่อพรรคใหญ่ลดลง พรรคก็จะมีมากขึ้น การตั้งรัฐบาลก็จะมีมากพรรค พวกผมมีประสบการณ์มาแล้ว ตั้งรัฐบาลกับพรรคนั้น พรรคโน้นมาหลายครั้งหลายหน พบความจริงว่าเวลาพรรคแกนนำมีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะๆ ปวดหัวที่สุด นโยบายหลักๆ ไม่มีทางได้ทำ เพราะพรรคนั้นก็จะทำเรื่องนี้ พรรคนี้ก็จะทำเรื่องนั้น มั่วไปหมด ไม่สนองการต่อรองเดี๋ยวรัฐบาลก็แตกหักอยู่ร่วมกันไม่ได้”

ทว่า จุดอ่อนที่อันตรายมากกว่าระบบเลือกตั้ง และเป็นจุดอ่อนอันน่ากลัวที่สุดในสายตานักการเมืองเก๋าประสบการณ์ คือ จุดอ่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้

“บัญญัติ” กล่าวว่า การทำจุดอ่อนอื่นที่มีอยู่แล้วกลายเป็นจุดอ่อนถาวรไม่สามารถแก้ไขได้ คือ การไปกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก จนเกือบจะแก้ไม่ได้เลย เพราะจะแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกได้จะต้องมี ส.ว.รับรองจำนวน 1 ใน 3 ถ้า ส.ว.เลือกกันเอง 20 กลุ่มอาชีพเช่นนี้ คนคิดจะแก้รัฐธรรมนูญกลับสู่การเลือกตั้ง ส.ว. ปิดสนิทเลย เป็นไปได้อย่างไรที่ ส.ว.สรรหาจะไปรับรัฐธรรมนูญเรื่องแก้ ส.ว.”

“ที่หนักไปกว่านั้น ทุกพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภา จะต้องเห็นด้วยอย่างน้อย 1 ใน 10 ทำลายหลักการ เพราะเมื่อ ส.ส. บวก ส.ว. มี 700 คน คน 685 คนเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ แต่มี 15 คนไม่เห็นด้วย คุณแก้ไม่ได้ ผมว่าเป็นจุดอ่อนอย่างแรงที่สุด เพราะทำให้จุดอ่อนอื่นๆ ที่คนดูแล้วให้ผ่านไปก่อนค่อยแก้ไขทีหลังเกิดขึ้นไม่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร กรธ. ควรถอยเรื่องนี้”

แม้สัญชาตญาณการเมืองของ “บัญญัติ” จะอ่านเกมการเมืองในอนาคตขาดทะลุปรุโปร่ง แต่ท่าที ปชป. ต้นสังกัดเขายังออกอาการ “แทงกั๊ก” แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะมีทั้ง “ชมปนด่า” ไม่ชัดเจนทางใดทางหนึ่ง ต่างจากคู่อริการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ที่แสดงเจตนารมณ์ย้ำจุดยืนว่าอยู่ตรงข้ามร่างรัฐธรรมนูญมีชัย

อดีตหัวหน้าพรรค “บัญญัติ” จึงไขคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

“คนโวยวายกันมากว่ายังไม่เห็นพรรคแสดงออกอะไร ที่ชมเขาก็มี วิจารณ์เขาก็มี อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา อันไหนดีก็บอกว่าดี อันไหนไม่ดีก็บอกไม่ดี”

“พรรคการเมืองไม่ละเลย วันนี้แสดงความคิดเห็นบ้างพอสมควร ไม่อยากให้บรรยากาศขุ่นมัว แต่ในทันทีที่รัฐธรรมนูญจะลงสู่เวทีการทำประชามติ ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ถึงเวลาที่ความเป็นความตายจะปรากฏขึ้น วันนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันให้ความเข้าใจกับประชาชน แต่จะไปปลุกระดมให้ประชาชนมาคว่ำกันเถอะ มาคว่ำกันเถอะ คงไม่ถึงขนาดนั้น อาจบอกประชาชนให้รู้ว่าในความรู้สึกของเราซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ยาวนาน เราเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน รับได้หรือไม่ได้ด้วยเหตุผลอย่างไร แล้วให้ประชาชนตัดสินเอาเอง”

เขาลั่นวาจาว่า “ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ทรยศต่อชาวบ้าน”

แต่ในทางกลับกัน คำครหาที่เป็นชนักติดหลังกับพรรคเก่าแก่ในรอบ 2 ทศวรรษคือ ปชป. เป็นพรรคที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่รอ “ส้มหล่น” เป็นรัฐบาล เพราะผลพวงจากการรัฐประหาร และมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ ปชป. มีเหตุผลอะไรที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญ?

“บัญญัติ” แย้งทันทีว่า “การทำการเมืองจะมาคิดแต่ผลประโยชน์ที่พรรคการเมืองจะได้อย่างเดียวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าคิดแต่เพียงเราได้ประโยชน์แล้วรับได้ ถ้าเสียประโยชน์กับเราแต่สังคมได้ประโยชน์กลับไม่รับ หรือสังคมเสียประโยชน์แต่เราได้ประโยชน์เรารับ เราก็แย่ ความที่ทำให้พรรคการเมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมืองผมคิดว่ามันก็ไร้ประโยชน์ ไปทำอย่างนั้นไม่ได้”

“และไปคิดถึงเรื่องส้มหล่นคงไม่ได้ มันก็ไม่ใช่พรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เตรียมยืนอยู่บนขาตัวเองอย่างแข็งแรงภายใต้การสนับสนุนของประชาชน นั่นคือจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนผลที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไรค่อยว่าอีกที”

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย

แต่สัญญาณต่อร่างรัฐธรรมนูญของ “บัญญัติ” อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ในพรรคอายุ 70 ปี ตกผลึกแล้วว่า “แบ่งสู้มากกว่าแบ่งรับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image