สรยุทธ “ระหว่างบรรทัด”

“สรยุทธ สุทัศนจินดา” เป็นพิธีกรข่าวชื่อดังของสถานีโทรทัศน์ช่องสามซึ่ง ณ วินาทีนี้ ยิ่งดังมากขึ้นไปอีกในฐานะ “คนเป็นข่าว” บนพื้นที่ข่าวใหญ่ประจำวันของสื่อไทย หลังจากตกเป็นข่าวว่าเขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือนในกรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐให้ปกปิดความผิดที่บริษัทไร่ส้มของเขาจ่ายเงินค่าโฆษณาให้อส.มท.ไม่ครบถ้วนตามข้อตกลง
สรยุทธ์บอกว่าเขารับคำตัดสินของศาลและจะต่อสู้ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหมายความว่าเขาจะยื่นอุทธรณ์ตามระบบ น่าสนใจว่าแม้ตกเป็นข่าวครึกโครม สรยุทธก็ยังจัดรายการข่าวตามปกติด้วยอาการซึ่งเรียกกันในแวดวงคนทำงานหน้าจอว่า “the show must go on”

มีปรากฏการณ์น่าสนใจมากมายเกิดขึ้นในสังคมไทยจากกรณีนี้
แรกสุดคือ ใช่ว่าคนในแวดวงข่าวสารจะไม่เคยถูกศาลตัดสินว่าทำผิดในกรณีเงินๆทองๆ (ซึ่งไม่ใช่ประเด็นปัญหาทางการเมืองที่อาจกล่าวได้ว่าเพราะคิดต่างกับรัฐบาลจึงถูกกลั่นแกล้ง) แล้วยังคงทำงานหน้าจอต่อไป เพียงแต่ “The show must go on” ของคนข่าวคนอื่นไม่เหมือนกรณีสรยุทธ

สรยุทธทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะคนร่วมอาชีพข่าวเช่นเดียวกับเขาจำนวนหนึ่งสามัคคีกัน “สหบาทา” พร้อมขุดคุ้ยประจานเขายิ่งกว่าใส่ใจประเด็น “ความผิด” ของเขาที่ได้รับการตัดสินจากศาลเสียอีก
ตามด้วยปรากฎการณ์เรียกร้องคุณธรรมความดีจากสรยุทธและต้นสังกัดของเขาคือช่องสามอย่าง “เอาเรื่อง” โดยสื่อและสมาคมสื่อรวมถึงคนไทยจำนวนมากที่แสดงตนชัดเจนว่าขยะแขยงความคดโกงอันถือเป็นความเลวขั้นสูงสุดชนิดให้อภัยมิได้

พวกเขาส่งเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าสรยุทธ์ต้องพ้นหน้าจอทันทีเพราะคนทำผิดต้องสำนึกผิด ไม่ควรเฉิดฉายทำเป็นทองไม่รู้ร้อนหน้าจอเหมือนตั้งใจเป็นต้นแบบความเลวทรามต่ำช้าแก่สังคมสืบไป
ประเด็นสนทนาหลักๆ เกี่ยวกับสรยุทธที่อึงอลอยู่ทั่วไปนั้นมี อาทิ

1.ใครๆก็รู้ว่าธุรกิจวงการทีวีไทยเป็นสีเทา สิ่งที่สรยุทธทำใครๆก็ทำไม่ใช่หรือ?
2.เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่าสรยุทธผิด สรยุทธควรทำงานหน้าจอต่อไปหรือควรหยุดพักไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว?
3.ถ้าสรยุทธยอมไม่ออกหน้าจอ แปลว่าสรยุทธยอมรับผิดใช่ไหม?
4.สรยุทธถูกรังแกเพราะมีคนอิจฉาริษยาใช่ไหม ถูกรังแกเพราะไม่เลือกข้างทางการเมืองชัดเจนใช่ไหม?
5.ช่องสามจะกล้าให้สรยุทธออกจากหน้าจอไหม เมื่อคิดถึงเรตติ้งซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของสื่อทีวี โดยเฉพาะยามนี้?
6.ถ้าสรยุทธยังอยู่หน้าจอต่อไปได้ แปลว่าจริยธรรมในสังคมไทยถึงกาลพังพินาศแล้วใช่ไหม?

Advertisement

ประเด็นแรกตอบได้ง่ายมากว่าต่อให้ธุรกิจทีวีเป็นสีเทา หรือต่อให้สรยุทธและบริษัทไร่ส้มไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่ทำเช่นนั้น สรยุทธและบริษัทไร่ส้มก็ผิดเพราะทำผิดจากสัญญาที่ตกลงกันไป
แม้ในอนาคตจะมีการชะล้างพื้นที่สีเทา ก็ไม่สามารถอ้างเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลว่าใครๆก็ทำผิดแบบเดียวกันทำไมสรยุทธจะทำบ้างไม่ได้ แต่อาจพูดได้ว่าสรยุทธเจอแจ็คพอตความซวยเข้าพอดีขณะที่คนอื่นรอดตัว

ประเด็นที่สองตอบได้จากสองหลักการ หนึ่งคือพิจารณาจากกรอบคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งกล่าวได้ว่าแม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินแล้วว่าผิด คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่สามารถตราหน้าผู้ถูกตัดสินว่าผิด แปลความว่ายังอยู่หน้าจอได้
สองคือพิจารณาจากกรอบคิดเรื่องหลักจริยธรรมสื่อ ซึ่งในแวดวงสื่อสากลอนุมานว่าประกอบด้วยหลักใหญ่สี่ประการคือ เสนอข่าวที่มีเนื้อหาถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน, เสนอข่าวอย่างเที่ยงธรรมปราศจากอคติหรือมีอคติน้อยที่สุดตามอุดมคติของการทำสื่อ, โปร่งใสตรวจสอบได้ และไม่สร้างความเสียหาย/ไม่ให้ร้าย/ไม่ทำร้ายบุคคลหรือชุมชน

ในแง่นี้ ไม่ว่าเจ้าตัวจะเห็นว่าตนเองทำผิดหรือไม่ผิดก็ตาม แต่เมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันหรือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของงาน เช่น หากสื่อต้องรายงานข่าวเรื่องธุรกิจสีเทาในวงการต่างๆ ผู้บริโภคสื่อและแม้แต่คนทำสื่อเองจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เนื้อหาข่าวที่รายงานจะไม่บิดเบี้ยวไปตามอคติของคนทำสื่อนั้นๆ
แปลความว่า ไม่ควรอยู่หน้าจอ อย่างน้อยก็ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

คำตอบในกรอบคิดหลักจริยธรรมสื่อ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ ประเด็นที่สามว่า ถ้าไม่ออกหน้าจอแปลว่าผิดหรือยอมรับผิดใช่ไหม เรื่องนี้น่าสนใจว่าถ้าเหตุเกิดในประเทศตะวันตกหรือแม้แต่ในเอเชียที่ก้าวหน้าเช่น ญี่ปุ่น คนดังซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะมักลาออกเมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวในความรับผิดชอบ แม้เขาจะตระหนักว่าไม่ได้ทำผิดก็ยอมลาออกด้วยทัศนคติ “รับผิดชอบ” แล้วรอจนคดีคลี่คลายชัดเจนว่าไม่ผิดจึงกลับมาใหม่

ส่วนเมืองไทยนั้น การลาออกหรือพักงานชั่วคราวมักได้รับการตีความด้วยทัศนะศาลเตี้ยว่าบุคคลนั้นผิด ยิ่งมีกองเชียร์สนับสนุน การลาออก/ไม่ลาออกหรือการพักงาน/ไม่พักงาน อาจกลายเป็นประเด็นตัดสินแพ้ชนะหรือได้หน้า/เสียหน้า

ประเด็นที่สี่ คือ สรยุทธถูกรังแกจากกลุ่มสื่อขี้อิจฉาและจากกลุ่มการเมืองที่หมั่นไส้สรยุทธว่าไม่ยอมเลือกข้างทางการเมืองเป็นพวกเดียวกันใช่ไหม
เรื่องจริงคือคนทำสื่อด้วยกันหลายคนหมั่นไส้สรยุทธเพราะสรยุทธรวยคนเดียว เรตติ้งสูงสุดของรายการสรยุทธซึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความสามารถของเขาจริงๆ ทำให้เม็ดเงินโฆษณามหาศาลแทบไม่กระเด็นไปที่อื่นนอกจากหน้าตักสรยุทธเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้น วิธีทำงานถึงลูกถึงคนไม่ยอมแพ้แม้วินาทีเดียวของสรยุทธยังทำให้สรยุทธและทีมกลายเป็นมือหนึ่งไร้คู่เปรียบในศึกฉกชิงแย่งตัวแหล่งข่าวมาออกอากาศ

เรื่องจริงคือสรยุทธไม่แสดงตนชัดเจนว่าเขาเลือกข้างทางการเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะเขายึดหลักจริยธรรมสื่อแบบเก่าว่าสื่อเลือกข้างไม่ได้ (จริยธรรมสื่อยุคใหม่ยินยอมให้สื่อเลือกข้างได้ตามธรรมชาติมนุษย์เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ครบถ้วนตามหลักจริยธรรมสื่อสี่ข้อข้างต้น ไม่ใช่เลือกข้างแล้วบิดเบือนทำลาย/ทำร้ายอีกฝ่าย) แต่อาจเพราะเขาเป็นนักธุรกิจโดยธรรมชาติ สรยุทธเป็นคนทำมาหากินที่อยู่กับโลกจริง ไม่ใช่พวกอ้างอุดมคติสวยหรู

เมื่อเขาถูกกองทัพนกหวีดบุกไปบังคับให้เขาเป่านกหวีดเพื่อแสดงตนว่าเขาและช่องสามอยู่ฝ่ายคนดีนั้น เห็นๆกันว่าเขาเป่านกหวีดพอเป็นพิธีเพื่อให้อารมณ์ฝูงชนสงบ
ไม่มีหลักฐานและไม่สมควรชี้หน้าว่าใครอิจฉาริษยาใส่ร้ายเขา มีเพียงความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ว่าสรยุทธทำผิดจริง มีเพียงความจริงที่เห็นและเป็นอยู่ว่ามีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งของคนทำสื่อฝ่ายประกาศตนเป็นคนดีในการขุดคุ้ยเปิดโปงสรยุทธว่าเป็นคนไม่ดี คดโกง ในการประชุมข่าวใหญ่ของบางสำนักข่าว ขุดกันถึงระดับมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนจบมาซึ่งเคยให้รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นแก่เขาว่าจะเรียกรางวัลนั้นคืนไหม หรือจะแสดงท่าทีอย่างไรให้สังคมเห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ยอมรับศิษย์เก่าผู้กระทำผิดสาหัสน่าอับอายผู้นี้

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยซึ่งอยู่ในสายสัมพันธ์เดียวกับสื่อฝ่ายประกาศตนเป็นคนดีและบรรดาผู้ประกาศตนเป็นคนดีต่างรีบออกแถลงการณ์เรียกร้องสรยุทธและต้นสังกัดคือช่องสามให้ตระหนักถึงความผิดของสรยุทธผู้ทำผิดจริยธรรมอันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และสำคัญมากต่อความอยู่รอดของสังคมไทยที่แสนจะเปราะบาง

คงไม่เป็นปัญหาหากการกระทำของสรยุทธและบริษัทไร่ส้มในกรณีที่ศาลตัดสินว่าผิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการทีวีไทยเพียงแต่ไม่มีใครหยิบมาเปิดโปงหรือบ้างก็อ้างว่าไม่ต้องเปิดโปงเพราะแค่โกงนิดโกงหน่อยไม่มากเท่าไร่ส้ม (คุ้นๆไหม)

คงไม่เป็นปัญหาหากวงการทีวีไทยใสสะอาดไม่มีเรื่องค่าน้ำร้อนน้ำชาค่าหัวคิว ซึ่งแม้ยากลำบากที่จะหาหลักฐาน คนทำงานตัวจริงในวงการทุกคนก็รู้อยู่ว่ามีถ้าไม่โกหก
คงไม่เป็นปัญหาหากบรรดาสื่อและสมาคมสื่อที่ประกาศตนอยู่ฝ่ายดี จะประกาศชัดเจนว่าคนทำสื่อทุกคนที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่าผิดต้องพักงาน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจแล้วหันมาใส่ใจเฉพาะกรณีสรยุทธ

คงไม่เป็นปัญหาหากบรรดาสื่อและสมาคมสื่อที่ประกาศตนอยู่ฝ่ายดี จะกระตือรือร้นประณามสื่อที่ทำผิดจริยธรรมทั้งหมดโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเมื่อพวกเขาพูดถึงจริยธรรมเสียงดังนั้น พวกเขารู้จริงว่าอะไรคือจริยธรรมสื่อ มิใช่แสดงพฤติกรรมราวกับว่าจริยธรรมสื่อมีประการเดียวคือไม่โกงเงิน ซึ่งจริงๆก็ไม่ตรง เพราะกรอบคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินหรือผลประโยชน์ทับซ้อนในแง่จริยธรรมสื่อ คือรับเงินหรืออามิสสินจ้างต่างๆจากผู้ว่าจ้างเพื่อบิดเบือนข่าวให้เป็นไปตามใจผู้ว่าจ้างอันทำให้ผู้บริโภคสื่อเสียประโยชน์และโอกาสจากการรับรู้ความจริง

ผู้ที่มีทัศนคติและพฤติกรรมสองมาตรฐานมักไม่รู้ตัวว่าพวกเขามีทัศนคติและพฤติกรรมสองมาตรฐาน
ประเด็นที่ห้า คือช่องสามจะกล้าให้สรยุทธออกจากหน้าจอไหม เมื่อคิดถึงเรตติ้งซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของสื่อทีวี คำตอบคือง่ายมากที่จะแปะป้ายช่องสามว่าคิดถึงแต่ผลกำไรไม่คิดถึงจริยธรรม แต่เมื่อมองในมุมธุรกิจ สื่อทีวีรายไหนหรือที่ยอมสูญเสียแม่เหล็กของตนด้วยเหตุผลทางจริยธรรม กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นที่พิธีกรข่าวชื่อดัง มีคดีคลิปฉาวนั้น แม้ขอพักหน้าจอ แต่นั่นหมายถึงมีจริยธรรมแล้วจริงหรือ? กรณีคดีอื้อฉาวจบลงอย่างไร มีการรับผิดหรือไม่ หรือสรุปให้กลายเป็นคนอื่นผิดทั้งหมด?

ยิ่งกว่านั้น หากเคร่งครัดตามหลักจริยธรรมสื่อจริง พิธีกรทีวีหลายๆช่อง ย่อมใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังกลุ่มคนที่พิธีกรเห็นต่างทางการเมืองไม่ได้ แต่พิธีกรทั้งหมดก็ใช้คำพูดเช่นนั้นและยังอยู่หน้าจอได้เพราะสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนพิธีกรและสถานีทีวีเหล่านั้นพอใจฟังเนื่องจากมีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกัน

ประเด็นสุดท้าย น่าสนใจและน่าหัวเราะมากหากคิดว่าความอยู่รอดทางจริยธรรมของประเทศนี้ขึ้นกับสรยุทธและช่องสาม
พูดอย่างตรงไปตรงมาแม้จะโหดร้ายบ้าง เราคงต้องยอมรับว่าสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ใกล้เคียงกับสังคมที่กำลังพังพินาศ แทบไม่มีความยุติธรรมใดปรากฎ แทบไม่มีหลักการใดให้ยึดถือ มีแต่ผู้คนอลหม่านด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นคนอื่นแล้วตั้งตัวเป็นพระเจ้าแสนดีบริสุทธิ์ ตัดสินพวกมันที่ไม่ใช่พวกเราว่าเลวล้วน

คำถามคือ เมื่อเราเห็นคนอื่นไม่เป็นคน เมื่อเรายินดีเห็นคนคิดต่างถูกฆ่าตายต่อหน้า เมื่อเรายินดีกับการใส่ร้ายป้ายสี “มัน” ด้วยความชิงชังรังเกียจ เมื่อเรายินดีที่จะ “เชื่อ” ว่า “มัน” เลวโดยไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลทั้งพร้อมจะเอาความเลวของมันไปขยายต่อเพื่อเร้าอารมณ์ร่วมให้ “พวกเรา” ช่วยกันทำร้ายหรือฆ่า “มัน” ให้สิ้นซากเพื่อความปลอดภัยของเรา เมื่อเรายินดีที่จะเสียสิทธิเสรีภาพของเราให้อำนาจเผด็จการและบังคับขืนใจคนอื่นให้เสียไปกับเราเพราะเราเชื่อของเราว่าเผด็จการคนดีประเสริฐกว่าประชาธิปไตยอันวุ่นวายของนักการเมืองเลวและประชาชนผู้ไม่รู้จักหน้าที่

เรายังมีหน้ากังวลอีกหรือว่าสังคมนี้จะเสื่อมสูญเพราะผู้คนไร้จริยธรรม

จริยธรรมแปลว่าอะไรนะ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image