จริงใจแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงใจ คสช.ต่อท่ออำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่ามกลางคลื่นลมไม่สงบ

แฟ้มภาพ

จริงใจแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงใจ! “บิ๊กตู่” ต่อท่อคสช. 5ปี ‘ปู-แม้ว’ เขย่าอารมณ์ โหมโรงโผทบ. ‘บิ๊กเข้’ ข้ามมัฆวาน

“ช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆ ก็ผ่อนผันลดลงไป เข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดี และถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของผมไง”

‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เผยถึงข้อเสนอของครม.ข้อที่16 ที่ส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขปัญหาหากเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยต้องการบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติเป็น 2 ช่วงเวลา
แบ่งเป็นช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลโดยมีระยะเวลาไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีการเลือกตั้งส.ส.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงการใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นสากลมากขึ้นและลดข้อจำกัดต่างๆ ลง

พล.อ.ประยุทธ์ ได้เผยระยะเปลี่ยนผ่านยาว 5 ปี นั่นหมายความว่าระยะเวลา หากร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ผ่านประชามติช่วงกลางปี 2559 และมีข้อเสนอที่ครม.เสนอใส่ลงไป การประกาศใช้รัฐธรรมนูญระยะปกติจะเกิดขึ้นราวปี 2564 แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งแล้วก็ตาม ผ่านกลไกใดกลไกหนึ่งมากำกับ

“ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็น ส.ว. หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไก ที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมา ทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ โดยการเปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำนี่ทำนู่น แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า ผมก็ไม่รู้” พล.อ.ประยุทธ์ เผย

Advertisement

ทว่าคำถามที่ยังค้างคาคือหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะเป็นอย่างไรและการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยังคงเป็นคำถามต้องห้ามของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้ จึงเกิดกฎเหล็กให้สื่อถามได้เพียง 4 คำถามขึ้น

เพราะหลักประกันการอยู่ในอำนาจไม่มีความแน่นอนเท่ารัฐบาลเลือกตั้ง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญคือ 4 ปี และกำหนดขั้นตอนการได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคสช.ระบุเพียงขั้นตอนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ผ่านการทำประชามติ กลับยังไม่มีกระบวนการรองรับว่าจะทำอย่างไร อีกทั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เสนอมาจาก คสช.-ครม. และส่งให้ สนช. เห็นชอบ ล้วนเป็นองคาพยพเดียวกัน จากการคัดเลือกของหัวหน้าคสช.
ความไม่แน่นอนตรงนี้จึงเกิดจากความไม่สมดุลในหลักแห่งการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตย นั่นคือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนรัฐบาลเลือกตั้งจะมีหลักประกันนี้ ทำให้สภาวะทางการเมืองของรัฐบาลเลือกตั้งได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

นำไปสู่การออกมามีบทบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ด้วยบารมีพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ และเป็นนายทหารที่ ‘บิ๊กตู่’ ให้ความเคารพตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองร้อย ทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นอีกบุคคลที่ ‘บิ๊กตู่’ ขอคำปรึกษาในหลายๆ เรื่อง จนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาคสช.อีกด้วย

Advertisement

ช่วงนี้ ‘บิ๊กป้อม’ จึงรับบทหนักขึ้นในการตอบคำถามสื่อแทน ’บิ๊กตู่’ โดยเฉพาะการตอบคำถามการเมืองและความมั่นคง

“ในฐานะที่ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ใหญ่ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาที่ผมเคารพนับถือมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และยังเป็นพี่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก พอจบการศึกษามาก็ไปรายงานตัวกับ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองร้อย และเป็นผู้หมวด อีกทั้งอยู่กองร้อยเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งท่านสอนผมมาจนถึงทุกวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในงานวันเกิดพล.อ.ประวิตร

อีกทั้งผบ.เหล่าทัพชุดปัจจุบัน ก็ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมากนัก ทำให้ภาระนี้ตกมาที่พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ที่น่าติดตามคือการให้สัมภาษณ์มากขึ้นและไม่จำกัดคำถามของ ‘บิ๊กหมู’ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. โดยพล.อ.ธีรชัยจะใช้กลยุทธปฏิเสธที่จะตอบคำถามแทน เช่น ผมไม่ขอตอบคำถามนี้ หรือ เรื่องนี้ไม่ใช้ภารกิจของกองทัพ เป็นต้น แต่หากเกี่ยวกับกองทัพก็จะอธิบายและให้ถามในรายละเอียดได้

ที่สำคัญสไตล์การตอบคำถามนี้ได้เป็นกลยุทธที่ผบ.เหล่าทัพยึดแนวทางตาม เห็นได้จาก ‘บิ๊กเต้’ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผบ.สส. ก็ใช้แนวทางเดียวกับพล.อ.ธีรชัยในการปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นภายในคสช. แต่ก็มองได้ว่าเป็นผลมาจากสภาวะภายนอกคสช. ที่มีเกมรุกใส่คสช.มากขึ้น ผ่านการเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรี จากความไม่แน่นอนของโรดแมป หรือการหาทางลงจากอำนาจของคสช.

ล่าสุด ”ทักษิณ ชินวัตร” ใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อเสนอเจรจากับฝ่ายรัฐบาล อีกทั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงห้วงเวลาและชีวิตหลังการรัฐประหาร การออกเคลื่อนไหวของทั้งคู่ ย่อมสะท้อนบางสิ่งบางอย่าง ทั้งสภาวะของคสช. ที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจะเป็นการยืดอายุคสช.ไปอีก 5 ปี อีกทั้งอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีคิวยาวขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อร่วมฟังการนัดสืบพยาน ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เขย่าอารมณ์ของคสช.ได้ไม่มากก็น้อย การสื่อสารทางการเมืองตอบโต้กันไปมา ระหว่างคสช.กับสองอดีตนายกฯ ย่อมสะท้อนภาวะ “แหมคม” หรือ “เปราะบาง” ของไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แหลมคม คือ สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงขึ้น ส่วนความเปราะบาง คือ สถานการณ์ที่อ่อนไหวขึ้น

แต่ความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน คือ ภายในกองทัพบก ด้วยประเด็นเรื่องว่าที่ผบ.ทบ.คนใหม่ ว่าใครจะเป็นคิวต่อไป ที่ขณะนี้มีคู่ชิงอยู่ 2 คน คือ ‘บิ๊กแกละ’ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ตท.17 เสธ.ทบ. เกษียณปี 2560 โตตามเส้นทาง ผบ.พล.ร.2 รอ. ผบ.ร.11 รอ. และ ผบ.พล.1 รอ. ก่อนเข้ามากองทัพภาค 1 เป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ ทายาท อดีตผบ.ทบ. ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ ‘บิ๊กโด่ง’พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ ‘บิ๊กหมู’ พล.อ.ธีรชัย

อีกคู่ชิงคือ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ตท.16 ผู้ช่วยผบ.ทบ. เกษียณปี 2561 อดีตผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทายาท ‘บิ๊กแอ้ด’ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และ ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. และหัวหน้าคมช. ที่สำคัญทั้ง ‘บิ๊กแกละ-บิ๊กเจี๊ยบ’ ไม่เคยผ่านการเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ทั้งหมดจึงอยู่ที่แรงผลักว่าจะมาจากขั้วใด

ที่น่าจับตาคือโผทหารกลางปีที่จะออกช่วงเดือนมี.ค.นี้ มีการตั้งคำถามว่าจะมีการดึง ‘บิ๊กเข้’ พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 อีกนายทหารเส้นทาง “สตรอง” บูรพาพยัคฆ์และเป็นทหารเสือราชินี ข้ามสะพานมัฆวานเข้าทบ. ครองอัตราพลเอก ชิงเก้าอี้ผบ.ทบ.ในการโยกย้ายเดือนส.ค.-ก.ย.นี้เลยหรือไม่

ก่อนหน้านี้มีการมองว่าจะมีการปรับครม.และดึงเอา ‘บิ๊กโชย’ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยผบ.ทบ. นั่งตำแหน่งรมช.กลาโหม จากกระแสการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และกดดัน ‘บิ๊กโด่ง’พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม อดีตผบ.ทบ. แต่เมื่อผลการตรวจสอบจากกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมได้ข้อสรุปไม่พบการทุจริต และพล.อ.อุดมเดชได้เปิดเผยผลการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าไม่พบการทุจริตเช่นกัน
ทำให้กระแสการปรับครม.อ่อนลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการปรับครม.ในอนาคต แต่อาจมาด้วยปัจจัยอื่นมากกว่า ส่งผลให้การดึง ‘บิ๊กโชย’ พล.อ.กัมปนาท ออกจาก 5 เสือทบ. เข้าร่วมครม.มีโอกาสลดลง

จะเข้าปีที่ 3 ของคสช.แล้ว ยังคงมีคลื่นลมทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ความจริงใจของพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้อยู่ที่จะวางระยะเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่อยู่ที่การดำเนินการตามโรดแมปและมีหลักประกันว่าคสช.จะไม่ต่อท่ออำนาจ เพราะเหตุผลหลักที่คสช.เข้ามา คือเพื่อยุติความขัดแย้ง

ตรงนี้ความจริงใจของคสช. จึงเริ่มถูกตั้งคำถาม

จริงใจแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงใจ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image