นักวิชาการ ‘งง’ เลือกตั้ง ’57 โมฆะ ทำไม ‘ยิ่งลักษณ์’ ต้องรับผิดชอบ

กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและทำให้รัฐเสียหาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.บุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งทุกกลุ่ม รวมถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.)

2.ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิดปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งทั้งที่มีการทักท้วงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมค่าเสียหายที่จะเรียกจากทั้ง 2 กลุ่ม รวม 2,400 ล้านบาท

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมายมหาชน เห็นข่าวนี้ก็หัวเราะ เป็นไปได้อะไรขนาดนั้น บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่น่าจะเป็นมติออกมาจากผู้มีหน้าที่ในความรับผิดชอบและเป็นนักกฎหมายด้วย ต้องไปเรียนวิชากฎหมายปกครองเบื้องต้นใหม่

Advertisement

กรณีนี้สามารถตีความได้ว่า อาศัยศาลฟ้องคนเป็นคดีความ คิดว่าศาลไม่รับหรอก เพราะคำวินิจฉัยของศาลปกครองออกมาเยอะมากในกรณีคล้ายกันอย่างนี้ ความจริงต้องให้หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐออกคำสั่งทางปกครองเรียกเสียก่อน ถ้าไม่ได้แล้วจึงไปฟ้องศาล มีแนวคำวินิจฉัยออกมาเยอะแยะ

น่าผิดหวังตรง กกต. มีทั้งอดีตนักกฎหมายใหญ่ มีทั้งกองนิติการ มีอะไรต่างๆ นานาเยอะแยะไปหมด กรณี กปปส.นั้นชัดเจนว่าขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีประเด็นที่ตลกๆ เยอะเลย เช่น บอกว่ามีมติฟ้องแพ่งในความผิดฐานละเมิด ทั้งที่การละเมิดกับการใช้อำนาจหน้าที่เป็นคดีปกครอง ไม่ใช่คดีแพ่ง แต่ว่าคดีพวกนี้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็มีวิธีการเรียกความผิดต่างกันไปๆ ในฐานะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ วิธีการที่หน่วยงานจะเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมี 2 วิธี คือ 1.ออกคำสั่งทางปกครอง เหมือนที่พยายามทำในกรณีจำนำข้าว และ 2.ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่ออกมาตลอด ต้องใช้วิธีการเรียกค่าเสียหายก่อน ถ้าเรียกไม่ได้แล้วถึงจะนำคดีมาฟ้องศาล ถ้าฟ้องทันที ศาลจะไม่รับ เพราะมีวิธีการอื่นได้ กรณีเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะถูกฟ้องสวนกลับมาก็ได้ หรือแก้ต่างก็แล้วแต่ ฉะนั้น กรณีนี้ที่มีมติให้เรียกค่าเสียหายหรือค่าอะไรต่างๆ โดยฟ้องแพ่ง อาศัย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

Advertisement

ถือเป็นการลงมติที่ผิดฝาผิดตัว ใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามนั้น

ที่สำคัญคือว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา รัฐบาลมีหน้าที่ในการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง แล้วหน้าที่ในการดำเนินการเลือกตั้งเป็นของ กกต.ทั้งหมด จากนั้นรัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกตามที่ กกต.ร้องขอ ฉะนั้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือตั้งโดยตรงก็คือ กกต.เองนั่นแหละ ไม่ใช่รัฐบาลสมัยนั้น

ถามว่า กกต.มีความผิดด้วยหรือไม่ จริงๆ แล้ว กกต.คือคนที่ไม่พยายามดำเนินการเลือกตั้ง แต่ของแบบนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงเท็จแค่ไหน ว่าด้วยพยานหลักฐาน ต้องต่อสู้กันในศาลปกครอง ใช้ระบบวิธีไต่สวนหาข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องฟังเฉพาะพยานหลักฐานหรือคู่ความ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คงไม่เกี่ยวกัน เพราะ กกต.จะฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าฟ้องไม่ได้ ต้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดก่อน

กรณีบางคูหาเลือกตั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่เปิดคูหา ก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของเจ้าพนักงาน อาจจะเปิดไม่ได้เพราะเหตุว่าจะเกิดอันตราย เกิดภัยพิบัติ เกิดจลาจล ซึ่งอำนาจหน้าที่ก็เป็นของ กกต.ในการระงับยับยั้งไว้ชั่วคราวหรือลงคะแนนในวันใหม่ กกต.สามารถทำได้ จะเลื่อนกี่หนก็แล้วแต่ ใน พ.ร.บ.ประกอบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็ทำได้อยู่

แต่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วไม่เปิดให้ลงคะแนน ก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่เปิด สมเหตุสมผลหรือเปล่า

ขณะที่ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โดนฟ้องด้วยข้อหาอะไร เพราะการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ รัฐบาลต้องเป็นคนประกาศวันเลือกตั้ง และเมื่อมีการยุบสภาก็ต้องมีการประกาศวันเลือกตั้ง

ถ้ามองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องโดนข้อหาละเมิดปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็ประหลาดแน่นอน โดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายจากนายกฯคนเดียว ไม่ใช่รัฐบาลทั้งหมด เพราะการประกาศวันเลือกตั้งเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เวลาเอาผิดกลับเป็นนายกฯคนเดียวก็ค่อนข้างประหลาด ไม่สมเหตุสมผล

กกต.บอกว่าที่ให้เสียค่าเสียหาย เนื่องจาก กกต.ได้เตือนแล้ว แต่รัฐบาลไม่ฟัง อันนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ได้มีหน้าที่ประกาศวันเลือกตั้ง และการที่ กกต.อ้างว่าได้เตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่ทำตามมติของ กกต. เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ผมคิดว่าจะเป็นการสถาปนาบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาว่าความเห็นขององค์กรอิสระเป็นเหมือนกฎหมาย ถ้าใครไม่ทำตามก็จะต้องถูกลงโทษในทางหนึ่งทางใด เป็นการฟ้องที่ไม่มีเหตุผล

ถ้าจะมีความเสียหายที่จะต้องชดใช้ คนที่ต้องรับผิดชอบคือคนที่ขัดขวางการเลือกตั้ง แต่คนที่ควรจะต้องรับผิดชอบมากที่สุดควรจะเป็น กกต.มากกว่า เพราะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการการเลือกตั้ง เเล้วถามว่าผู้จัดการเลือกตั้งได้ปกป้องการเลือกตั้งจากคนที่ขัดขวางอย่างสมควรแก่เหตุหรือเปล่า เมื่อไม่สามารถบริหารจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จได้ กกต.ควรจะต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ก็อาจจะพูดได้ว่า กกต.พยายามจะปัดความรับผิดชอบที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image