เมฆแปลงกาย จาก‘เมฆหมั่นโถว’ถึง‘เมฆหัวฟู’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

diagram-Cu-to-Cb-design-2-ชื่อเล่น-พฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงจากเมฆก้อน (1,2,3) สู่ เมฆฝนฟ้าคะนอง (4,5) ภาพดัดแปลงจาก https://cloudatlas.wmo.int/code-specifications-and-coding-procedures.html
บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ใครๆ ก็รู้ว่าเมฆเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ บางทีเปลี่ยนช้า แต่บางทีก็เปลี่ยนเร็ว ครั้งนี้ผมขอชวนคุณผู้อ่านติดตามเมฆก้อนน้อยๆ ที่ค่อยๆ เติบโตไปเป็นเมฆก้อนใหญ่ พร้อมให้ชื่อวิชาการ (ภาษาละติน) ชื่อเล่นจำง่ายๆ และที่สำคัญคือ พฤติกรรมของเมฆแต่ละชนิด ลองดูแผนภาพ 1 ถึง 5 ไล่จากซ้ายไปขวากันเลยครับ

(1) เริ่มจาก…เมฆก้อนขนาดเล็ก มีความหนาน้อยกว่าความกว้าง คือ รูปร่างยาวๆ ตามแนวนอน ฝรั่งนักวิชาการเรียกว่า คิวมูลัส ฮิวมิลิส (Cumulus humilis) หมายถึง “เมฆก้อนผู้ต่ำต้อย” เพราะคำว่า Cumulus หมายถึง เมฆก้อน ส่วนคำว่า humulis หมายถึง ต่ำต้อย, อ่อนน้อมถ่อมตน

เมฆชนิดนี้ไม่มีฝน ฝรั่งชาวบ้านชอบก็เลยเรียกว่า คิวมูลัสอากาศดี (fair-weathered cumulus) ส่วนคนจีนมองเป็นของกิน เรียกว่า “เมฆหมั่นโถว” และมีคำกล่าวว่า “เมฆหมั่นโถว อากาศสดใส” ตรงกับข้อสังเกตที่ว่าเมฆชนิดนี้ไม่มีฝนนั่นเอง

(2) คราวนี้ถ้าเมฆก้อนอวบขึ้นเล็กน้อย จนกระทั่งมีความหนาพอๆ กับความกว้าง รูปร่างดูกลมๆ ฝรั่งนักวิชาการเรียกว่า คิวมูลัส มีดิโอคริส (Cumulus mediocris) หมายถึง “เมฆก้อนขนาดกลาง” เพราะคำว่า mediocris ในภาษาละตินก็คือ medium ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ขนาดกลาง นั่นเอง

Advertisement

เมฆชนิดนี้ไม่ค่อยมีฝน แต่ถ้ามี ฝนจะตกลงมาเบาๆ เป็นฝนปรอย แบบนี้ผมไม่รู้ว่าคนจีนเรียกอะไร แต่ขอตั้งชื่อให้ว่า “เมฆซาลาเปา” ก็แล้วกัน (จะได้จำต่อจากเมฆหมั่นโถว 😉 )

(3) ถ้าเมฆก้อนยังอวบต่อไปอีกจนมีขนาดใหญ่ คราวนี้มีได้อย่างน้อย 2 แบบครับ แบบแรก หนามากกว่ากว้าง คือ สูงขึ้นในแนวดิ่ง ฝรั่งเรียกว่า towering cumulus (คิวมูลัสที่ก่อตัวสูงคล้ายหอคอย) ส่วนแบบที่สอง ดูอลังการยิ่งใหญ่เหมือนแนวเทือกเขาทอดยาวตามแนวนอน ทั้งสองแบบนี้ ฝรั่งนักวิชาการเรียกว่า คิวมูลัส คอนเจสตัส (Cumulus congestus) เพราะคำว่า congestus มาจากคำกริยา congere แปลว่า กองสะสมตัวสูงขึ้น

เมฆก้อนชนิดขนาดใหญ่นี่ ผมตั้งชื่อเล่นว่า “เมฆก้อนอวบระยะสุดท้าย” ด้วยเหตุผลที่จะพูดถึงในข้อถัดไป น่าสังเกตว่าคุณอวบระยะสุดท้ายจะมียอดเมฆ (ส่วนบนสุดของเมฆ) ดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายกะหล่ำดอก เมฆชนิดนี้อาจมีฝนตกหนักได้ แต่ไม่มีฟ้าร้องฟ้าผ่า

(4) ถ้าเมฆก้อนอวบระยะสุดท้ายยังอวบขึ้นอีก มันจะไม่ใช่คิวมูลัส
อีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนสกุลไปเป็นคิวมูโลนิมบัส หรือ เมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud) ซึ่งมีฟ้าร้อง ฟ้าผ่าได้

เมฆฝนฟ้าคะนองในระยะแรกนี้ ยอดเมฆด้านบนยังคงดูกลมๆ แต่จะมีบางส่วนผิวดูเรียบเนียน ไม่ตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำบริเวณนี้กลายเป็นน้ำแข็ง ฝรั่งนักวิชาการมองยอดเมฆกลมๆ แล้วนึกถึงคนหัวล้าน จึงเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส แคลวัส (Cumulonimbus calvus) เพราะคำว่า cumulonimbus หมายถึง เมฆฝนฟ้าคะนอง ส่วน calvus แปลว่า หัวล้าน, หัวเหน่ง เรียกง่ายๆ ว่า “เมฆหัวเหน่ง” ก็แล้วกัน

(5) สุดท้าย…หากเมฆหัวเหน่งยังพัฒนาต่อไปอีก คราวนี้ยอดเมฆด้านบนจะแผ่ฟูออกมา อาจเป็นเส้นๆ หรือบานออกคล้ายดอกเห็ด ฝรั่งนักวิชาการมองแล้วนึกถึงคนผมดก จึงเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส แคพิลเลตัส (Cumulonimbus capillatus) เพราะคำว่า capillatus แปลว่า มีผมดก เรียกง่ายๆ ว่า “เมฆหัวฟู” ก็เห็นภาพชัดดี

ลองสรุปสั้นๆ ไล่จากเล็กไปใหญ่ ดังนี้ “หมั่นโถว-ซาลาเปา-อวบระยะสุดท้าย-หัวล้าน-หัวฟู” คู่กับพฤติกรรมหลัก คือ “ไม่มีฝน-ฝนตกเบามากๆ-ฝนตกหนักได้” (สำหรับเมฆก้อนคิวมูลัส 3 ชนิดแรก) และ “มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แถมอาจมีลูกเห็บได้” (สำหรับเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือคิวมูโลนิมบัส) เมื่อคุณผู้อ่านจับหลักง่ายๆ นี้ได้ การดูเมฆก็จะสนุกรื่นรมย์ขึ้นไม่น้อยครับ 😀

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับเมฆคิวมูลัสที่ https://cloudatlas.wmo.int/cumulus-cu.html และเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ https://cloudatlas.wmo.int/cumulonimbus-cb.html

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image