‘จุฬาฯ’ ปลด ‘เนติวิทย์’ ออกจากตำแหน่งประธาน-พร้อม 4 สมาชิกสภานิสิตแล้ว

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

ความคืบหน้าการดำเนินการในกรณีความไม่เรียบร้อยจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ หลังคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสอบสวนพฤติกรรมของกลุ่มนิสิตดังกล่าว โดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ถูกสอบสวนในข้อหาใช้สถานที่ราชการในการจัดประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขณะที่เพื่อนสมาชิกนิสิตอีก 7 คน ถูกสอบสวนข้อหาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 สิงหาคม 2560) กรณีมีกระแสข่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตัดสินกรณีดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อเวลา 17.00 น. มีรายงานว่านายเนติวิทย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายเนติวิทย์ ยืนยันว่าถูกปลดจากตำแหน่งจริง พร้อมด้วยสมาชิกสภานิสิต มีรายระเอียดดังนี้

1. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต นิสิตคณะรัฐศาสตร์
2. ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิต นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์
3. ธรณ์เทพ มณีเจริญ สภานิสิตสามัญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์
4. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี สภานิสิตสามัญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์
5. ชินวัตร งามละมัย สภานิสิตสามัญ นิสิตคณะครุศาสตร์

หลังจากนั้นนายเนติวิทย์โพสต์ข้อความระบุว่า “ในวันนี้ ผมได้รับคำสั่งจากทางจุฬาฯ ให้ปลดผมและเพื่อนๆ อีก 4 คนที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คนที่กรรมาธิการสภาด้วย ทำให้ผมพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกข้อหาหนึ่งคือการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตัดสิน ส่วนท่านอาจารย์ที่ได้ล็อกคอนิสิตนั้น มหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย แต่ผลการตัดสิน ณ ตอนนี้ยังไม่มีผลออกมา ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยได้เริ่มกระบวนการสอบสวนก่อนผมและเพื่อนๆ เสียอีก อย่างไรก็ดี ทางเราจะยังต่อสู้ต่อไปโดยอุทธรณ์ต่อทางมหาวิทยาลัย”

Advertisement

“ขออย่าได้สิ้นหวังกับสังคมนี้ แม้จะมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ถ้าเราช่วยกันเป็นอิฐคนละก้อน เราจะข้ามพ้นมันไปได้ในที่สุด” นายเนติวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ได้มีนักวิชาการและนักศึกษาจากทั่วประเทศร่วมลงชื่อเรียกร้องจุฬาฯให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ โดยขอให้มหาวิทยาลัยไม่ใช้อำนาจในการแก้ปัญหาดังกล่าว (คลิกอ่านข่าว)

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สร้างเสียงฮือฮา เมื่อนอม ชอมสกี นักวิชาการชื่อดังจากสหรัฐส่งข้อความแสดงความห่วงใยมายังนายเนติวิทย์ โดยมองว่าหากมีการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม (คลิกอ่านข่าว) และ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พบปะกับนายเนติวิทย์ พร้อมแสดงความเห็นว่า แม้อาจไม่เห็นด้วยกับนายเนติวิทย์ แต่นายเนติวิทย์ไม่ได้ทำผิดอะไร เป็นสิทธิ ไม่สามารถลงโทษได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image