Mini-Gallery ‘เมฆหมั่นโถว’ถึง‘เมฆหัวฟู’

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ก่อนหน้านี้ ผมชวนคุณผู้อ่านชมเมฆก้อนน้อยๆ ค่อยๆ แปลงร่าง จนกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองไปแล้ว แต่แสดงด้วยภาพวาด คราวนี้จึงขอนำภาพถ่ายมาให้ชมกันชัดๆ แถมเกร็ดน่ารู้นิดหน่อย เพื่อเพิ่มพูนความมั่นใจในการดูเมฆครับ
อ้อ! ภาพทั้งหมดนี้ถ่ายในประเทศไทย ดังนั้น คุณผู้อ่านจึงมีโอกาสเห็นของจริงอย่างแน่นอน
เริ่มจากภาพที่ 1 ภาพนี้ผมถ่ายได้ที่อยุธยา เวลาประมาณเที่ยงครึ่ง แดดร้อนจัดเอาเรื่อง เมฆก้อนที่มีรูปร่างยาวๆ ตามแนวนอน คือ “เมฆหมั่นโถว” นั่นเอง คนจีนบอกว่า “เมฆหมั่นโถว อากาศสดใส” เพราะเมฆชนิดนี้ไม่มีฝนตก
ชื่อวิชาการคือ คิวมูลัส ฮิวมิลิส (Cumulus humilis) หมายถึง เมฆก้อนผู้ต่ำต้อย เห็นชื่อแล้วอาจคิดว่าเจ้าฮิวมิลิสนี่คงเป็นคิวมูลัสที่เล็กที่สุด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ!
ลองดูในภาพที่ 1 อีกครั้ง จะเห็นว่ามี “เศษเมฆ” ที่ดูไม่เป็นก้อน มีขอบขยุกขยุย นี่ต่างหากคือคิวมูลัสที่เล็กที่สุด เรียกว่า คิวมูลัสแฟรกตัส (Cumulus fractus) คำว่า fractus เป็นภาษาละติน แปลว่า เศษ นึกถึงคำว่า fraction ที่แปลว่า เศษส่วน ก็ได้

ภาพที่ 1 เมฆหมั่นโถว และเศษเมฆ
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ถัดไปในภาพที่ 2 เมฆก้อนกลมๆ โดดเด่นคือ “เมฆซาลาเปา” เป็นเมฆก้อนขนาดกลาง ชื่อวิชาการคือ  คิวมูลัส มีดิโอคริส (Cumulus mediocris) คำว่า mediocris ในภาษาละติน ก็คือคำว่า medium (กลาง) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
เมฆซาลาเปานี่ไม่ค่อยมีฝนตก แต่ถ้ามีก็เป็นฝนปรอย ที่คนอีสานเรียก “ฝนริน” หรือคนเมืองเพชรเรียก “ฝนสิม” นั่นเอง

ภาพที่ 2 เมฆซาลาเปา (ก้อนตรงกลาง)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมฆก้อนใหญ่ขึ้นมาอีก คือ “เมฆอวบระยะสุดท้าย” ที่เรียกแบบนี้เพราะขืนยังอวบต่อไป มันก็จะกลายไปเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง คือเปลี่ยนสกุลจากคิวมูลัสไปเป็นคิวมูโลนิมบัส ชื่อวิชาการคือ คิวมูลัส คอน
เจสตัส (Cumulus congestus)
เมฆอวบระยะสุดท้ายอาจเติบโตสูงปรี๊ด จนมีรูปร่างคล้ายหอคอย ฝรั่งเรียกว่า towering cumulus (ภาพที่ 3(a)) หรืออาจแผ่ออกตามแนวนอนดูใหญ่ทะมึนคล้ายเทือกเขา (ภาพที่ 3(b)) ก็ได้ แต่ไม่ว่าแบบไหน ส่วนบน (ยอดเมฆ) จะดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายกะหล่ำดอก ส่วนขอบล่าง (ฐานเมฆ) อาจไม่มีฝน หรือมีฝนตกหนักก็ได้ แต่ไม่มีฟ้าร้องฟ้าผ่า

ภาพที่ 3(a) เมฆอวบระยะสุดท้ายแบบก่อตัวสูงคล้ายหอคอย (towering cumulus)
ภาพ : กฤษกร วงค์กรวุฒิ
ภาพที่ 3(b) เมฆอวบระยะสุดท้ายแบบเทือกเขา
ภาพ : ดร. ขจิต ฝอยทอง

ทีนี้ถ้ายอดเมฆเริ่มกลายเป็นน้ำแข็งบางส่วน ในทางเทคนิคจะถือว่าเมฆได้กลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือคิวมูโลนิมบัสแล้ว ช่วงแรกๆ นี่ยอดเมฆจะดูกลมๆ มองแล้วคล้ายคนหัวล้าน นักอุตุนิยมวิทยาเลยเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส แคลวัส (Cumulonimbus calvus) เพราะคำว่า calvus แปลว่า หัวล้าน ดู “เมฆหัวล้าน” ในภาพที่ 4 ที่ผมถ่ายได้ที่เมืองโบราณสิครับ

Advertisement
ภาพที่ 4 : เมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวล้าน
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ต่อมา ยอดเมฆของเมฆฝนฟ้าคะนองอาจฟูๆ ออกมา นักอุตุนิยมวิทยามองเป็นผมดกสลวยสวยเก๋ ก็เลยเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส แคพิลเลตัส (Cumulonimbus capillatus) คำว่า capillatus แปลว่า มีผมดก เมฆชนิดนี้เรียกง่ายๆ ว่า “เมฆหัวฟู” แต่บางครั้งอาจเรียกว่า “เมฆรูปเห็ด” หรือ “เมฆระเบิดปรมาณู” หากมีรูปร่างเหมือนชื่อที่เรียกนั้น

ภาพที่ 5 : เมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟู
ภาพ : ภัทรกร นิยมาภา

เจอเมฆพวกนี้คราวหน้า ถ้านึกสนุกก็เก็บภาพส่งไปแบ่งปันให้ใน “ชมรมคนรักมวลเมฆ” (แบบ groups) ที่ www.facebook.com/groups/CloudLoverClub ได้เลยครับ ที่นั่นมีคนรักเมฆกว่า 57,000 คน รอชมอยู่ 😀


ขุมทรัพย์ทางปัญญาเชิญชวนคุณผู้อ่านไปทำแบบทดสอบ
‘คุณตกหลุมรักเมฆเข้าแล้ว–ใช่หรือไม่?’
ได้ที่ www.cloudloverclub.com/test-cloudlover/

Advertisement


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image