สนุกกับ‘หมวกเมฆ’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ช่วงหน้าฝนมักมีเมฆก้อนล้นตลาดแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเมฆหมั่นโถวก้อนยาวๆ เมฆซาลาเปาก้อนกลมๆ หรือเมฆอวบระยะสุดท้ายก้อนใหญ่ๆ เมฆก้อนพวกนี้ตัวมันเองก็ดูเพลินอยู่แล้ว แต่จะสนุกยิ่งขึ้นหากเจอเมฆบางๆ แถมมาด้วย เมฆบางๆ นี้อาจลอยอยู่เหนือยอดเมฆเล็กน้อย แต่บางทีก็คลุมติดยอดเมฆ (ดู“หมวกเมฆเวียดนาม”เทียบกับ“หมวกเมฆ Big C Mini” สิครับ)

หมวกเมฆเวียดนาม
ภาพ : ผดุง แสงแก้ว
หมวกเมฆ Big C Mini
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมฆบางๆ ที่ลอยหรือคลุมอยู่เหนือเมฆก้อน เรียกว่า “หมวกเมฆ” ชื่อนี้ถอดความหมายมาจากชื่อในภาษาอังกฤษคือ pileus (ออกเสียงว่า “ไพ-ลี-อัส) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภาษาละติน แปลว่า หมวก (cap) ส่วนนักพฤกษศาสตร์ก็เรียก “หมวกเห็ด”ว่า pileus ด้วยเช่นกัน

เว็บ International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดให้ “หมวกเมฆ (pileus)” จัดเป็นเมฆตัวประกอบ (an accessory cloud) รูปแบบหนึ่ง และระบุว่าหมวกเมฆเกิดกับเมฆสกุลคิวมูลัส (Cumulus) และคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) เป็นหลัก

ฝรั่งชาวบ้านเรียกหมวกเมฆด้วยชื่ออื่นๆ เช่น scarf cloud (เมฆผ้าคลุม) หรือ cap cloud (เมฆหมวกแก๊ป) แต่ถ้าเป็นนักดูเมฆจะสงวนว่าคำว่า cap cloud เอาไว้ใช้กับเมฆที่ลอยอยู่เหนือภูเขาเท่านั้น (ประเด็นนี้เอาไว้จะมาพูดถึงอีกทีนะครับ)

Advertisement

หมวกเมฆเกิดขึ้นได้ยังไง? คำตอบคือ มีกลไกอย่างน้อย 2 แบบครับ

กลไกแบบแรก คือ เมฆก้อน หรือคิวมูลัส กำลังเติบโตขึ้นในแนวดิ่ง ทำให้อากาศที่อยู่เหนือยอดเมฆถูกผลักให้เคลื่อนสูงขึ้นไป หากอากาศนี้มีความชื้น (ปริมาณไอน้ำ) มากเพียงพอ และมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดน้ำค้าง (dew point) ไอน้ำก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำขนาดเล็กมากมาย เมื่อมองโดยรวมก็คือ หมวกเมฆ นั่นเอง หมวกเมฆแบบนี้อาจคงตัวอยู่ไม่นานนัก เพราะเมฆก้อนที่เติบโตขึ้นมามักจะควบรวมกิจการ กลืนหมวกเมฆเข้าไปจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

การเกิดหมวกเมฆ

กลไกแบบที่สอง คือ หากหมวกเมฆเกิดเหนือเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือคิวมูโลนิมบัส ซึ่งยอดเมฆสูงคงที่ในระดับที่อุณหภูมิติดลบ ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส หมวกเมฆก็จะประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กจำนวนมากมาย หมวกเมฆแบบนี้มักจะคงตัวอยู่นานกว่าแบบแรกมาก

หมวกเมฆยังมีออปชั่นสนุกๆ เพิ่มเติมได้อีก เช่น

☐อาจเกิดได้หลายตำแหน่งในเมฆก้อนเดียวกัน โดยเฉพาะคิวมูลัส คอนเจสตัส (Cumulus congestus) หรือเมฆก้อนชนิดอวบระยะสุดท้าย ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว

☐อาจเกิดซ้อนกันหลายชั้น เช่น 2 ชั้น 3 ชั้น หรือมากกว่า

☐อาจเกิดปรากฏการณ์สีรุ้ง เรียกว่า หมวกเมฆสีรุ้ง (iridescent pileus)

☐อาจเกิดแบบลูกผสม เช่น เกิดหลายชั้น และมีสีรุ้งแถมมาด้วย (ดูภาพของคุณ Suphacha Naja สิครับ)

หมวกเมฆสีรุ้ง
ภาพ : Diwadi KaTae
หมวกเมฆสีรุ้งแบบหลายชั้น
ภาพ : Suphacha Naja

รู้อย่างนี้แล้ว คุณผู้อ่านคงอยากจะเก็บหมวกเมฆเอาไว้ดูเล่นบ้าง แบ่งเป็น 2 กรณีครับ

วิธีหา‘หมวกเมฆสีขาว’
เคล็ด(ไม่)ลับ : มองหาเมฆก้อน โดยเฉพาะเมฆก้อนขนาดใหญ่ สังเกตบริเวณยอดเมฆ หรือบริเวณอื่นๆ ที่ดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายกะหล่ำดอก อาจมีหมวกเมฆเกิดขึ้นตรงนั้น (แต่มักคงตัวอยู่ไม่นานนัก)
หมวกเมฆแบบนี้อาจเกิดได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้า (ราว 6 น.) จนถึงเย็น แต่ช่วงเที่ยงถึงบ่ายแก่ๆ ในช่วงฤดูฝน (ซึ่งอากาศร้อนและชื้น) ก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะสังเกตพบ ควรรู้ด้วยว่าหมวกเมฆอาจมีสีเหลืองๆ ส้มๆ ตามสีของแสงอาทิตย์โดยเฉพาะในช่วงเย็น (สังเกตสีของ “หมวกเมฆ Big C Mini” อีกครั้ง)

วิธีหา‘หมวกเมฆสีรุ้ง’
เคล็ด(ไม่)ลับ : มองหาเมฆก้อนใหญ่มากๆ (มักเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง) ทางทิศตะวันตก ในช่วงบ่ายแก่ๆ ถึงเย็น หากมีหมวกเมฆ และดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังเมฆก้อนใหญ่ หรืออยู่ไม่ไกลจากยอดเมฆมากนัก ก็มีลุ้นเห็นหมวกเมฆสีรุ้ง

ประสบการณ์ของผมและเพื่อนสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆบอกว่า หมวกเมฆสีรุ้งอาจเกิดได้ในช่วงเวลาประมาณ 15:50 น. ถึง 18:40 น. ในช่วงฤดูฝน (แต่ยังไม่เคยพบหมวกเมฆสีรุ้งในช่วงเวลาเช้าเลย หากใครพบ ช่วยแจ้งให้ผมทราบทันที เพราะต้องถือว่าหายากและน่าตื่นเต้นครับ)

อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองหาจังหวะเหมาะๆ ทดสอบเคล็ดวิชาเสกหมวกเมฆซะหน่อย แต่ระหว่างนี้ คุณผู้อ่านอาจลองค้นภาพใน Google ด้วยคำว่า pileus cloud หรือ iridescent pileus ซึ่งจะได้เห็นตัวอย่างหมวกเมฆสวยแปลกตามากมาย (แต่ก็ต้องระวังว่าบางภาพในอินเตอร์เน็ตก็ไม่ใช่หมวกเมฆของแท้นะครับ)


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำคลิปแสดงหมวกเมฆ ชื่อ Updrafts with Pileus!
ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lXNcxjJ58rE


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image