เกาะติด ‘พายุหมุนเขตร้อน’ ด้วย SmartPhone : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

US_NRL-เส้นทางพายุโนรู เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2017
บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

บ้านเรามี พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) เข้ามาโจมตีแทบทุกปี ข้อมูลสถิติจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ.2494-2559 พายุหมุนเขตร้อนเกิดในช่วงเดือนเมษายนถึงธันวาคม โดยเดือนที่เกิดมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ตุลาคม (28.1%) กันยายน (26.0%) พฤศจิกายน (16.1%) และสิงหาคม (10.4%) ดังนั้น ณ เวลานี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร

พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวโดยเริ่มจาก หย่อมความกดอากาศต่ำ (low-pressure area) หากกระแสลมทวีกำลังแรงขึ้น ก็จะเรียกว่า พายุดีเปรสชัน (depression) ตามด้วย พายุโซนร้อน (tropical storm) และแรงที่สุดคือ พายุไต้ฝุ่น (typhoon) ซึ่งหากเกิดที่สหรัฐอเมริกาก็เรียกว่า พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) นั่นเอง

คงจะดีแน่ถ้าเรามีเว็บและแอพพ์ที่เชื่อถือได้คอยเตือนการก่อตัวของพายุ รวมทั้งทำนายเส้นทางพายุ ผมขอแนะนำเอาไว้หลายอันให้เลือกใช้ตามความชอบ เนื่องจากแต่ละเว็บและแอพพ์ต่างมีจุดเด่นของตนเอง

 

Advertisement

Windy
URL : www.windy.com

จุดเด่น : แสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ลม, ฝน/หิมะ, อุณหภูมิ, เมฆ และอื่นๆ ด้วยภาพที่เข้าใจง่าย มีพยากรณ์อากาศล่วงหน้าหลายวัน ที่สำคัญคือ มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดด้วย

ข้อสังเกต : ยังไม่มีการพยากรณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อน

Advertisement
Windy-dot-com
QR_Code-Windy-dot-com

CIMSS Tropical Cyclones Group
URL : http://tropic.ssec.wisc.edu/

จุดเด่น : มีแผนที่โลกแสดงภาพรวมของพายุหมุนเขตร้อนในปัจจุบัน สำหรับพายุหมุนเขตร้อนแต่ละลูก จะแสดงเส้นทางพายุที่ผ่านมา ตำแหน่งปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มเส้นทางการเคลื่อนที่ไปในระยะเวลา 12, 24, 36, 48 และ 72 ชั่วโมง (บางครั้งถึง 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน)

ข้อสังเกต : การพยากรณ์เส้นทางพายุหมุนเขตร้อนในช่วง 3 วันแรกแม่นยำดีพอสมควร

CIMSS-TC-เส้นทางพายุทกซูรี
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2017
QR_Code-CIMSS-TC

US Naval Research Laboratory (NRL)
URL : http://www.nrlmry.navy.mil/tc_pages/tc_home.html

จุดเด่น : ให้ข้อมูลพายุหมุนเขตร้อนทั่วโลก พยากรณ์เส้นทางพายุล่วงหน้าสูงสุด 5 วัน และมีภาพถ่ายดาวเทียมจำนวนมาก ทั้งแบบ VIS (แสงที่ตามองเห็น), IR (รังสีอินฟราเรด) และ Vapor (ปริมาณไอน้ำในอากาศ)

ข้อสังเกต : อาจเข้าถึงด้วยการค้นคำว่า NRL tropical cyclone ในอินเตอร์เน็ต แล้วเลือกชื่อพายุในตารางด้านซ้าย

US_NRL-เส้นทางพายุโนรู เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2017
QR_Code-US_NRL-TC

ระบบเฝ้าระวัง ติดตามและพยากรณ์อากาศ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา
URL : www.metalarm.tmd.go.th/monitor/typhoon

จุดเด่น : คำอธิบายเป็นภาษาไทย สามารถค้นข้อมูลพายุหมุนเขตร้อนย้อนหลังได้ เช่น เส้นทางพายุเซินกา (Sonca) ที่เล่นงานสกลนครจนอ่วมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2560

ข้อสังเกต : มีข้อมูลเฉพาะพายุที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเท่านั้น

ระบบเฝ้าระวัง สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เส้นทางพายุเซินกา
QR_Code-ระบบเฝ้าระวัง-กรมอุตุฯ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ข้อมูลสถิติพายุหมุนเขตร้อนนำมาจากเอกสาร “พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย รายเดือน คาบ 66 ปี (พ.ศ. 2494 -2559)” จัดทำโดยศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา มกราคม 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image