ชีไฟท์เตอร์ (SheFighter) สถานที่สอนศิลปะการป้องกันตัวแก่ผู้หญิงแห่งแรกในจอร์แดน

ภาพ AFP

ทุกวันนี้มีผู้หญิงที่ตกเป็น “เหยื่อความรุนแรง” อยู่มากมาย แม้แต่อยู่ในบ้านของตัวเองแท้ๆ

ลีน่า คาเลเฟห์ สาวจอร์แดน แชมป์เทควันโดสายดำวัย 31 เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันจูเนียร์ เอเชี่ยน แชมเปี้ยนชิปส์ เมื่อปี 2546 เริ่มสอนเทควันโดให้แก่เพื่อนๆ ที่ห้องใต้ดินที่บ้านเมื่อปี 2553 หลังจากเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้เธอฟังว่า ถูกพ่อแท้ๆ และพี่ชายแท้ๆ ทำร้าย “ทุบตี” โดยลีน่า ไม่เคยคิดเลยว่า ศิลปะป้องกันตัวที่เธอสอนให้เพื่อนกลุ่มเล็กๆในวันนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอได้รับเชิญไปเยือนทำเนียบขาว และทำให้เธอได้เป็นเจ้าของศูนย์สอนศิลปะการป้องกันตัวแก่สตรีแห่งแรกในประเทศจอร์แดน หลังจากมีการบอกกันปากต่อปาก กระทั่งทำให้มีผู้หญิงอยากมาเรียนศิลปะการต่อสู้กับเธอมากมาย

ลีน่า แชมป์เทควันโดสายดำ ผู้ก่อตั้งชีไฟท์เตอร์ (เอเอฟพี)
ลีน่า แชมป์เทควันโดสายดำ ผู้ก่อตั้งชีไฟท์เตอร์ (เอเอฟพี)

“ความตั้งใจของฉันก็คือ ช่วยให้ผู้หญิงมีความมั่นใจ และสามารถป้องกันตัวเองได้ การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นทั่วโลก มันไม่ได้เลวร้ายแค่ในจอร์แดน หรือในอียิปต์ แต่มันคือปัญหาที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนระบบขนส่งสาธารณะ และในพื้นที่บางแห่งของกรุงอัมมาน” ลีน่าบอก

นับแต่เริ่มเปิด “ชีไฟท์เตอร์ (SheFighter)” มาร่วม 3 ปี ลีน่าเล่าว่า เธอได้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ให้แก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงร่วม 14,000 คน ตั้งแต่เด็กหญิงอายุ 4 ขวบไปจนถึงหญิงชราวัย 75 รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายพันคน และเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ทำงานในหน่วยงานเอ็นจีโอต่างๆ ในจอร์แดน

Advertisement

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ลีน่าก็ได้รับเชิญไปที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะหนึ่งในเยาวชนจากทั่วโลกที่สร้างแรงบันดาลใจ และชื่อของเธอ ก็ได้รับการหยิบยกจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ในการกล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า

“เราต้องการให้ความสนับสนุนแก่ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอย่าง ลีน่า คาเลเฟห์ จากจอร์แดน”

ภาพ AFP
ภาพ AFP

ที่จอร์แดน ลีน่าย้ำว่า “ผู้หญิงจำเป็นต้องสามารถป้องกันตัวเองได้” ทั้งนี้ เพราะกฎหมายของจอร์แดนยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงไม่เพียงพอ ที่จะปกป้องผู้หญิงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกข่มขืน หรือการถูกกระทำรุนแรงภายในครอบครัว

Advertisement

ในช่วงกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เสียงจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาประณามการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงในจอร์แดนก็มีเพิ่มมากขึ้น และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญาของจอร์แดน ยินยอมให้จำเลยในคดีข่มขืนสามารถรอดพ้นจากการติดคุก ถ้าหากยินยอมแต่งงานกับเหยื่อ และขณะที่ ฆาตกร ต้องได้รับโทษประหารชีวิต แต่หากเป็นการฆ่าที่เรียกว่า “honour killings” หรือการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ ที่มีการลงมือสังหารญาติผู้หญิงที่เชื่อว่า ทำให้ครอบครัวต้องเสื่อมเสียเกียรติ ศาลก็มักจะลดโทษให้แก่จำเลย

ลีน่าเล่าว่า มีคนที่ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการมี “ชีไฟท์เตอร์” เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ให้ความสนับสนุนอย่างท่วมท้น

“ผู้หญิงบางคนที่มาลงเรียนกับเรา เคยตกเป็นเหยื่อถูกกระทำรุนแรง ถูกคุกคามทางเพศ หรือแม้แต่เคยถูกข่มขืน”

ภาพ AFP
ภาพ AFP

ฟาราห์ มูเราะห์ สาววัย 18 เล่าว่า เธอตัดสินใจมาลงเรียนศิลปะการป้องกันตัว หลังจากถูกชายหนุ่มลวนลามบนถนน “มันเกิดขึ้นตอนกลางวันแสกๆ ฉันกำลังเดินอยู่ แล้วผู้ชายคนนี้ก็เข้ามาจับที่ไหล่ฉัน ฉันผลักเขาออก และไม่รู้ว่าต้องทำยังไงตอนนั้น ฉันก็เลยวิ่งหนีกลับบ้าน”

แต่หลังมาเรียนที่ชีไฟท์เตอร์ ฟาร่าห์บอกว่า “ฉันไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว เดี๋ยวนี้ฉันสามารถเดินยืดอกได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะฉันรู้แล้วว่าจะปกป้องตัวเองได้ยังไง”

ในคอร์สการเรียนที่ใช้เวลาราว 2-3 เดือน สำหรับการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ที่มีอยู่ 4 ระดับ ลีน่าจะสอนลูกศิษย์ของเธอผสมผสานทั้งศิลปะการต่อสู้แบบเทควันโด และการชกมวย รวมทั้งเคล็ดลับการป้องกันตัวอย่างเช่น วิธีเอาตัวรอดจากการถูกรัดคอ หรือถูกดึงผม

ลูฮีน ดาร์วิช วัย 16 สามารถเอาตัวรอดจากคนที่เข้ามาทำร้ายเธอ ด้วยทักษะและศิลปะการต่อสู้ที่เธอเรียนรู้มาจากชีไฟท์เตอร์ ด้วยเวลากว่า 6 เดือน “ผู้หญิงจำเป็นต้องเข้มแข็ง และต้องปกป้องตัวเองได้จากสถานการณ์เลวร้ายเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเดินอยู่ลำพังบนถนน”

แต่ก็มีผู้หญิงหลายคนที่มาลงเรียนศิลปะการต่อสู้ที่ชีไฟท์เตอร์ 2-3 เดือน เพื่อออกกำลังกาย

“ฉันเคยเรียนเทควันโดตั้งแต่เด็กเพราะว่าชอบ แต่แน่นอนว่า หากมีใครมาพูดจาลวนลาม หรือมาพูดจาไม่ดี พวกนั้นก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดี” รูบา มาสซาดา สาววัย 17 พูดด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าเธอสามารถป้องกันตัวเองได้แน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image