แฉครูทิ้งเด็กเหตุแห่เรียน “โท-เอก” หวังอัพวุฒิชิงเก้าอี้ “ผู้บริหารร.ร.”

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ โดยต่อไปผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องผ่านประสบการณ์การบริหารในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน จากนั้นค่อยขยับมาโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)จะต้องไปคิดเกณฑ์ว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ควรจะต้องมีมาตรฐานตำแหน่งอย่างไร เพราะมาตรฐานตำแหน่งในปัจจุบัน จะเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเท่ากันหมด โดยจะไปเปรียบเทียบอิงกับกฎหมายเก่า ที่กำหนดมาตรฐานและเรียกชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า “ครูใหญ่” เรียกชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดกลางว่า “อาจารย์ใหญ่” และเรียกชื่ออาจารย์โรงเรียนขนาดใหญ่ว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบความสำเร็จอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน แต่สิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือ นอกจากการคำนึงถึงประสบการณ์ในการบริหาร โดยไล่ตามขนาดของโรงเรียนแล้ว อยากให้คำนึงถึงคุณสมบัติในการเข้าสู่ตำแหน่งในด้านอื่น ๆ ด้วย

“คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนในปัจจุบันต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการบริหารการศึกษาหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูหรือป.บัณฑิต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกทางการบริหารการศึกษา ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ทำให้ครูสายการสอนส่วนใหญ่แห่กันไปเรียนต่อสาขาการบริหารการศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งจึงเปิดสอนปริญญาโท ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษาทั้งในสถานที่ตั้ง นอกสถานที่ตั้ง และหลายแห่ง ผู้เรียนเรียนปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษาเพียง 1 ปีก็จบ มีกระบวนการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ กลายเป็นธุรกิจการศึกษา ถึงขนาดโรงเรียนบางแห่ง ครูเกือบทั้งหมดจบปริญญาโทสาขาบริหารการศึกษา ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะทำให้ระบบการศึกษายิ่งแย่ เพราะครูแทนที่จะมุ่งสอน กลับไปเรียนเพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอในการขึ้นเป็นผู้บริหาร ขณะที่ปัจจุบัน โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้องการผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้และ ความสามารถด้านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สามารถนิเทศ แนะนำ หรือสอนเป็นตัวอย่างแก่ครูในโรงเรียนได้มากกว่า” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวจึงอยากให้มีการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย โดยเห็นว่าผู้บริหารโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องจบสาขาบริหารการศึกษาเท่านั้น แต่ให้เป็นการได้รับการอบรมศาสตร์ทางการบริหารเพิ่มเติม ขณะที่ระบบคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน ไม่อยากให้มุ่งเน้นไปที่ผลการสอบคัดเลือกเพียงอย่างเดียว อยากให้มีกระบวนการเสนอนโยบายในการบริหารต่อคณะกรรมการด้วยซึ่งควรจะต้องมีตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียนนั้นๆ ว่าจะมีเป้าหมาย วิธีการ และการประเมินกับโรงเรียนที่ตัวเองประสงค์จะไปดำรงตำแหน่งนั้นอย่างไร รวมถึงจัดกระบวนการพัฒนาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจริงๆ ใครไม่ผ่านการอบรม ก็จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image