Parhelic Circle ทรงกลดวงกลมแสนพิเศษ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

เมื่อคราวก่อน ผมแย้มไว้ว่าการทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์มักมี “ของแถม” ตามมาด้วย คราวนี้จะขอแสดงของแถมเหล่านี้ว่ามีอะไร มีแง่มุมสนุกๆ ยังไง
ลองดูสองภาพแรกไปพร้อมๆ กันครับ ภาพที่ 1 คือ อาทิตย์ทรงกลดที่สุโขทัยเมื่อหลายปีก่อน ถ่ายด้วยเลนส์ตาปลา แปลว่า ด้านบนของภาพอยู่ตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่วนภาพที่ 2 ผมคำนวณด้วยโปรแกรม HaloPoint 2.0 และเติมชื่อเรียกเส้นทรงกลดแบบต่างๆ เอาไว้
เส้นที่โดดเด่นที่สุด คือ วงรี หรือการทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ ภายในวงรีมีทรงกลดวงกลมรัศมี 22 องศาอยู่ด้วย

ภาพที่ 1 : อาทิตย์ทรงกลดที่สุโขทัย
อังคารที่ 2 กรกฎาคม 2556 10:04 น. จังหวัดสุโขทัย
ภาพ : ฐปนพัฒน์ ศรีปุงวิวัฒน์
ภาพที่ 2 : ชื่อเรียกเส้นการทรงกลดที่สุโขทัย
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เส้นที่โดดเด่นรองลงมา คือ วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle) การทรงกลดแบบนี้มีแง่มุมน่ารู้ เช่น

⦁ วงกลมพาร์ฮีลิกตัดผ่านดวงอาทิตย์เสมอ โดยมีแนวเส้นขนานกับขอบฟ้าในทุกช่วงเวลา (แต่บางครั้งอาจเห็นชัดเฉพาะเส้นโค้งทางฝั่งดวงอาทิตย์)
⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า วงกลมพาร์ฮีลิกจะมีขนาดใหญ่มากอยู่เหนือขอบฟ้า
⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่สูงขึ้น วงกลมพาร์ฮีลิกจะหดเล็กลง จนเมื่อดวงอาทิตย์สูง 79 องศา วงกลมพาร์ฮีลิกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 องศา และเริ่มเข้าไปอยู่ในทรงกลดวงกลมรัศมี 22 องศาพอดี ดูภาพที่ 3
⦁ วงกลมพาร์ฮีลิกเป็นเส้นสีขาวขุ่น ไม่มีสีรุ้ง
⦁ หากเปรียบวงกลมพาร์ฮีลิกเป็นสายสร้อย บางครั้งอาจมี “ทรงกลดลูกปัด” แบบต่างๆ อยู่บนสายสร้อยด้วย เช่น
ซันด็อก พาร์ฮีเลียน 44 องศา และพาร์ฮีเลียน 120 องศา (ทรงกลดลูกปัดเหล่านี้ไว้จะหาโอกาสพูดถึงอีกทีนะครับ)

Advertisement
ภาพที่ 3 : วงกลมพาร์ฮีลิกอยู่ในวงกลม 22 องศา
วันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1990
ดวงอาทิตย์อยู่สูง 79 องศา
สถานที่ : La Silla astronomical observatory
ภาพ : Damien Hutsemekers
ที่มา > https://www.ursa.fi/blogi/
ice-crystal-halos/high_sun_parhelic_circle/

นอกจากวงกลมพาร์ฮีลิกแล้ว การทรงกลดของแถมยังมีอีก 3 แบบที่น่ารู้จัก ได้แก่ เส้นโค้งซูพราแลตเทอรัล เส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล และเส้นโค้งเวเกเนอร์
เส้นโค้งซูพราแลตเทอรัล (supralateral arc) มีสองเส้นซ้ายขวา หากดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่า 5 องศา แต่เชื่อมต่อเป็นเส้นเดียวเมื่อดวงอาทิตย์สูง 5-32 องศา คำว่า “supra” บ่งว่าเส้นนี้อยู่ด้านบน “สูงกว่า” ดวงอาทิตย์ (ให้ภาพเส้นนี้ไว้เมื่อคราวก่อน)

เส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล (infralateral arc) มีสองเส้นซ้ายขวา หากดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่า 68 องศา (ภาพที่ 2) แต่ทั้งสองเส้นเชื่อมต่อกันเป็นเส้นเดียวเมื่อดวงอาทิตย์สูงตั้งแต่ 68 องศาขึ้นไป คำว่า “infra” บ่งว่าเส้นนี้อยู่ด้านล่าง “ต่ำกว่า” ดวงอาทิตย์ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 : เส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล
(โค้งหงายด้านล่าง)
ภาพ : กมล แย้มอุทัย

  เส้นโค้งเวเกเนอร์ (Wegener arc) แตะขอบบนของการทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ จุดตัดระหว่างเส้นโค้งเวเกเนอร์กับวงกลมพาร์ฮีลิก เรียกว่า จุดแอนทีลิก (anthelic point) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ คำว่า anthelic มาจาก anti (ตรงข้าม) กับ helios (ดวงอาทิตย์) ดูภาพที่ 5

Advertisement
ภาพที่ 5 : จุดแอนทีลีกและเส้นทรงกลดบริเวณนี้
ภาพถ่าย : ปิยพงศ์ ปิยารมย์ / ภาพจำลอง : บัญชา ธนบุญสมบัติ

  เส้นทรงกลดหลายรูปแบบที่แถมมาด้วยเหล่านี้ คือ เสน่ห์ของการทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์นั่นเองครับ

 


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำ http://www.atoptics.co.uk/halo/parcirc.htm


 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image