ไม่อยากให้ลูกลำบาก!! เทคนิคง่ายๆ สอนเด็กให้เป็น “เศรษฐี”

พ่อแม่ทุกคนอยากฝึกให้ลูกเป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ รู้ค่าของเงิน ใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่าไม่ฟุ่มเฟือย นอกจากวิธีสอนให้ลูก “หยอดกระปุกออม” ยังมีอีกหลายวิธีที่สอนเด็กๆ ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานให้พวกเขาได้เรียนรู้และฝึกฝนนำไปใช้จนกลายเป็นรากฐานที่สร้างความ “มั่งคั่ง” ให้กับพวกเขาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ธนาคารกสิกรไทย โดยบริการ K-Expert ที่ปรึกษาด้านการเงิน มีวิธีง่ายๆ ที่แนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง

ภาพประกอบบทความ K-Expert Center (2)

ออมเงินไว้ไม่อด

Advertisement

จัดการเงินด้วยตัวเอง ให้เงินลูกใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน เพื่อให้ลูกรู้จักประเมินว่าตนเองควรออมเงินและใช้จ่ายอย่างไร เช่น ให้เงินลูกเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 100 บาท นั่นหมายความว่า เฉลี่ยแล้วไม่ควรใช้เกินวันละ 20 บาท พ่อแม่อาจแนะนำลูกว่า หากวันใดใช้เกิน 20 บาท ก็ควรลดค่าใช้จ่ายของวันถัดไป ซึ่งวิธีเช่นนี้จะช่วยให้ลูกสามารถบริหารเงินรายรับได้เพียงพอตลอดทั้งสัปดาห์

รู้จักบัญชีเงินฝากและดอกเบี้ย เมื่อลูกมีเงินเก็บหลักร้อยหรือมากถึงหลักพัน ก็ควรพาลูกไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ในชื่อของเขาเอง ลูกจะได้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของบัญชีด้วยตัวเอง นอกจากนี้ การฝากเงินกับธนาคารทำให้เงินงอกเงยขึ้นจากดอกเบี้ยเงินฝาก ยิ่งฝากนานก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยมากขึ้น

อยากได้ ให้เก็บออม เมื่อได้รับเงินค่าขนม เด็กๆ มักจะใช้เงินที่มีจนหมด และไม่เหลือเก็บออม และบางครั้งร้องขอให้ซื้อสิ่งของให้ พ่อแม่จึงควรกำหนดเป้าหมายกับเด็กๆ และสอนให้พวกเขาออมเงินโดยออมก่อนใช้ เช่น ถ้าลูกอยากได้จักรยานราคา 1,500 บาท พ่อแม่อาจช่วยออกเงินให้ลูกส่วนหนึ่ง และที่เหลือให้ลูกเริ่มต้นเก็บเงิน เช่น หักจากเงินค่าขนมประจำสัปดาห์จำนวนหนึ่งเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อจักรยาน ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับของที่ซื้อได้ด้วยเงินเก็บของตัวเอง

?????????????????

ขยันไว้เพื่อได้เงิน

ทำงานเพื่อแลกเงิน สอนลูกให้เรียนรู้การทำงาน ถ้าลูกยังเล็ก ลองฝึกเด็กๆ หัดทำงานบ้าน โดยให้เงินค่าจ่างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้ากวาดบ้านถูพื้นเสร็จหมดแล้วจะได้เงินกี่บาท การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในงานบ้านและต้องใช้แรงงานเพื่อให้ได้เงินเพิ่มนั้น จะช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น และได้รับรู้ถึงความลำบากของพ่อแม่ในการทำงาน

ใส่ใจการใช้จ่าย
ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ช่วยให้เด็กรู้ว่า เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เช่น ค่าขนม ค่าอาหาร หรือค่าเดินทาง หากเงินที่ได้รับในแต่ละวัน ไม่พอใช้จ่าย บัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้รู้ว่า ควรปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนใด เพื่อให้เงินค่าขนมที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ซื้อเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น ของเล่นกับเด็กมักเป็นของคู่กัน บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักใจอ่อนเมื่อลูกร้องขอให้ซื้อของเล่นที่ตนอยากได้ การซื้อของเล่นให้เป็นประจำจะทำให้ลูกไม่รู้จักค่าของเงิน และอาจสร้างนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้เกิดขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การปฏิเสธคำขอร้องให้ซื้อของเล่นและอธิบายถึงการใช้เงินในการซื้อของที่จำเป็นจะช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการใช้จ่ายเงิน

ภาพประกอบบทความ K-Expert Center (6)

เรียนรู้การแบ่งปัน

รู้จักรับและให้ เมื่อเด็กๆ มีวินัยในการใช้จ่ายเงินที่ดีแล้ว ควรฝึกให้เด็กๆ เรียนรู้คุณค่าของการแบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาส เช่น เมื่อมีของเล่นที่ไม่ใช้แล้ว ควรนำของเล่นเหล่านี้ไปบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาสตามสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ เด็กพิการ นอกจากจะใช้ของเล่นที่มีอยู่ให้คุ้มค่าแล้ว ยังสอนให้พวกเขารู้จักการแบ่งปันให้กับคนอื่น เห็นคุณค่าของตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคมได้แม้จะเป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image