ไฟเขียว! กม.ประชามติ ห้ามทำโพล-เสวนานอกเวทีกกต.เสี่ยงผิดกม.-วันออกเสียง7ส.ค.

“ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.คุมประชามติ กำหนดจัดเวทีรณรงค์-บทลงโทษ- วันลงมติ เสนอ 3 ความเห็น ใช้บัตร 2 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ผ่านทางตัน ให้มี ส.ว.250 คน พิทักษ์ รธน.

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญที่ให้กกต.จัดทำประชามติในร่างรัฐธรมนูญ ซึ่งมีมาตราที่น่าสนใจ เช่น มาตรา 10 ระบุเกี่ยวกับการจัดเวทีรณรงค์ เสวนา แสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ โดยกกต.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งนอกจากกกต.แล้ว สามารถจัดเวทีได้เช่นกันแต่จะสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ดังนั้นหากจะให้ดีควรเข้าร่วมในเวทีที่กกต.เป็นผู้จัด เชื่อว่าจะครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่มาตรา 44 เกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดบัตรเสีย เช่น บัตรปลอม บัตรที่ไม่ได้ทำคะแนนออกเสียง มีการเขียนข้อความอย่างอื่นลงไป ส่วนมาตรา 62 เกี่ยวกับการกำหนดฐานความผิดว่ากระทำการอย่างไรแล้วจะถือว่าเป็นความผิดในการออกเสียงประชามติ เช่น ฉีกบัตร ปลุกระดม การจ้างวานในล้มประชามติ นอกจากนี้ได้ห้ามทำโพลสำรวจความเห็นและห้ามเผยแพร่ 7 วันก่อนวันออกเสียงประชามติ ซึ่งเห็นชอบให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันออกเสียงประชามติ จึงนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ห้ามทำโพล

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานมติของที่ประชุมแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย คสช. สนช. สปท. ครม.เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เข้าร่วม ทั้งนี้การที่ กรธ.ไม่เข้าร่วมนั้นได้คุยกันเรียบร้อยแล้วว่า กรธ.เป็นผู้ปฏิบัติหากมาร่วมประชุมด้วยจะดูเป็นการร่วมหัวจมท้ายกัน ไม่ใช่เรื่องการงอนกัน ซึ่งมติของที่ประชุมแม่น้ำ 4 สาย ไม่ใช่คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. แต่เป็นมติร่วมกันของทั้ง 4 สาย โดยมีมติที่เสนอไปยัง กรธ. 3 ประเด็นหลักเพื่อปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 2 ส่วน ทั้งบทถาวร เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดเสรีภาพ แนวนโยบาย องค์กรอิสระ แนวทางการปฏิรูป และบทเฉพาะกาล ซึ่งที่ประชุม 4 สาย มองใน 2 ประเด็นคือ เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดทางตัน เพราะไม่ต้องการให้ปัญหาทางตันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงต้องมีแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ และเพื่อให้เสียง ส.ส.ในสภา เพราะเราทราบปัญหาอยู่แล้วว่าการเลือก ส.ส.ในอดีตที่ผ่านมา มีการทำในสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม เช่น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม

พล.ต.สรรสเสริญ กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 วิธี 1. ขอให้มี ส.ว.จำนวน 250 คนที่มาจากคัดสรรทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้คัดสรร ให้มีวาระ 5 ปี มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หมายความว่าหาก ส.ส.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในทิศทางที่สังคมไม่เห็นด้วย ส.ว.จะต้องถ่วงดุลอำนาจ ให้ข้อสังเกตและมีข้อทักท้วง แต่ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี 2. ส.ว.มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตั้งเป้าหมายกว้างๆเอาไว้ โดยต้องมี ส.ว.ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโดยง่าย มิเช่นนั้นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ต้องการที่จะทำอะไรตามใจก็จะทำได้ง่าย และ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะเราให้ความสำคัญและต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ

Advertisement

3. นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยแรก 2 ใบ สำหรับ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ เพื่ออุดช่องโหว้ ให้พรรคเล็กสามารถแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นได้ เพราะพรรคเล็กอาจไม่มีกำลังในการส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตเลือกตั้ง แต่สามารถรับเลือกตั้งในรูปแบบส.ส.บัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งครั้งแรกพรรคการเมืองยังไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เหมือนที่ กรธ.ได้กำหนดให้เสนอชื่อเสนอนายกฯ 3 รายชื่อให้กกต. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดทางตัน ทั้งนี้หลังจากได้วิเคราะห์หลายมุมมองพบว่าเป็นการป้องกันทางตัน เนื่องจากไม่มีการบังคับให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อก่อน จึงสามารถเสนอชื่อใครก็ได้

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากจะมีการแก้ไขในเรื่องอื่นต้องให้นายกฯเห็นชอบก่อน ขณะที่เรื่องการกำหนดคำถามพ่วงที่เดิมในการทำประชามติให้ สนช.เป็นผู้เสนอ ได้ปรับแก้ไขให้สปท.สามารถเสนอความเห็นผ่านทางสนช.ได้ ซึ่งครม.ได้รับทราบในประเด็นดังกล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image