พระราชทาน ‘สิรินธรน่า โคราชแดนซิส’ ฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ขุดพบ

วันที่ 20 มกราคม ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ได้จัดแถลงข่าวการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชีมา, นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี, ศาสตราจารย์ ดร.โยอิชิ อะซูมา ผอ.สถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และ ผศ.ดร.ประเทือง จิตสกุล ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

ผศ.ดร.ประเทืองเปิดเผยว่า การขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์อิกัวโนดอนสายพันธุ์ใหม่ของโลกในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากประเทศไทย และนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์ ดร.โยอิชิ อะซูมา ผอ.สถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะทีมวิจัยฟอสซิลไดโนเสาร์จากแหล่งบ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยเริ่มวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมาแล้ว 2 สกุล ได้แก่ ราชสีมาซอรัส และสยามโมดอน ส่วนฟอสซิลอิกัวโนดอนต์ที่ทำการวิจัยครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรบน ล่าง ฟัน และชิ้นส่วนอื่นๆ รวม 19 ชิ้น จากชั้นหินกรวดมนปนปูน ในหมวดหินโคกกรวด มีอายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ที่มีระบบนิเวศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง ซึ่งฟอสซิลอิกัวโนดอนต์ตัวนี้ มีความแตกต่างจากอิกัวโนดอนต์ 2 สกุลที่พบในโคราชมาก่อน เช่น มีขากรรไกรล่าง ที่มีอัตราส่วนระหว่างความยาวและความสูงน้อยกว่าราชสีมาซอรัส หรือมีขากรรไกรบนทรงต่ำหรือลาดเอียงมากกว่าสยามโมดอน เป็นต้น

201601201355057-20041020133743

“ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาส 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์ เป็นชื่อสกุลว่า “สิรินธรน่า” ส่วนชื่อชนิด ใช้ชื่อโคราชซึ่งเป็นแหล่งค้นพบ คือ โคราชแดนซิส รวมเป็นชื่อทางการว่า “สิรินธรน่า โคราชแดนซิส” โดยมีขนาดความยาวตั้งแต่หัวจรดหาง ประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร หนักประมาณ 1 ตัน มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 115 ล้านปีก่อน ทั้งนี้สำหรับไดโนเสาร์อิกัวโนดอน อยู่ในประเภทไดโนเสาร์กินพืชที่มีกระดูกสะโพกแบบนก ต่างจากไดโนเสาร์กินพืชพวกซอโรพอตหรือพวกคอยาวหางยาว ที่มีกระดูกสะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน ไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนนี้ พบมากกว่า 60 สกุล เพราะมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันมานานกว่า 100 ล้านปี และพบกระจายกว้างขวางทั่วโลก ลักษณะเด่นของอิกัวโนดอนต์ คือมีฟันคล้ายฟันอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ไม่มีฟันในส่วนหน้าของขากรรไกรบน-ล่าง แต่มีจงอยปากที่เป็นกระดูกแข็งแทน ขาหลังแข็งแรง ใหญ่ และยาวกว่าขาหน้า จึงเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งได้เร็วด้วย 2 เท้า แต่เวลาเดินหรือแทะเล็มกินใบไม้ยอดไม้ระดับต่ำ จะเดินด้วย 4 เท้า อาจแบ่งได้เป็น 2 พวกย่อย คือ พวกที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ไว้ป้องกันตัวหรือแกะเมล็ดไม้ที่มีเปลือกแข็ง เช่น อิกัวโนดอน จึงหมายถึงกลุ่มไดโนเสาร์ที่ประกอบด้วยสกุลอิกัวโนดอน และสกุลอื่นๆ ที่คล้ายอิกัวโนดอน สำหรับสิรินธรน่า จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยที่ 1 คือ พวกที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม รวมทั้งราชสีมาซอรัสและสยามโมดอน ก็จัดอยู่ในอิกัวโนดอนกลุ่มย่อยนี้ด้วย” ผศ.ดร.ประเทืองกล่าว

Advertisement

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้ได้ ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้จำลองโครงกระดูกเต็มตัวจัดแสดงไว้ในโซนจัดแสดงไดโนเสาร์ รวมทั้งได้มีการจัดแสดงฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ และฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่ขุดพบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กว่า 10,000 ชิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image