นาซาจ่อทดลองทำไฟไหม้ยานไร้คนขับในห้วงอวกาศ เผื่อรับมือสถานการณ์จริง

ภาพจาก Space.com

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ(นาซา)ของสหรัฐอเมริกา เตรียมจะทำการทดลองจุดไฟไหม้ขึ้นบนยานอวกาศไร้คนขับในห้วงอวกาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาถึงขนาดของเปลวไฟ การลุกลามเกิดขึ้นรวดเร็วได้มากแค่ไหน ปริมาณความร้อนและก๊าซที่ปล่อยออกมามากเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ที่ผ่านมานาซาเคยทำการทดลองจุดไฟขนาดเล็กในห้วงอวกาศมาก่อน แต่ไม่เคยทำการศึกษาถึงขนาดของเปลวไฟที่ก่อปฏิกิริยาขึ้นภายในยานอวกาศในห้วงอวกาศว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน แต่แผนการทดลองครั้งนี้นาซาจะทำการจุดไฟขึ้นภายในยานอวกาศไร้คนขับชื่อ “ออร์บิทอล เอทีเค ซิกนัส” หรือ ซิกนัส หลังจากยานอวกาศลำนี้เสร็จสิ้นภารกิจในการถูกส่งขึ้นไปนำส่งเสบียงสัมภาระยังสถานีอวกาศนานาชาติ(ไอเอสเอส)ในห้วงอวกาศและถอนตัวออกจากไอเอสเอสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ นาซามีกำหนดจะส่งยานซิกนัสออกจากฐานยิงที่เคปคานาเวอรัล มลรัฐฟลอริดาของสหรัฐ ด้วยจรวดนำส่งแอตลาส 5 ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ และทันทีที่ยานซิกนัสถอนตัวออกจากไอเอสเอส และอยู่ห่างจากสถานีอวกาศดังกล่าวในระยะไกลพอสมควรแล้ว ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินจะทำการจุดไฟขึ้นบนยาน อุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิ ออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับไฟไหม้เอาไว้ คาดว่าจะใช้เวลาราว 20 นาทีตามเวลาจริง ขณะที่กล้องที่ติดตั้งอยู่ภายในยานจะทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ขณะวัตถุกำลังถูกเผาไหม้

นายแกรี รัฟฟ์ หนึ่งในวิศวกรที่นำการทดลอครั้งนี้จากศูนย์วิจัยเกลน รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ของนาซา ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีความสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติภารกิจในห้วงอากาศในปัจจุบันและในอนาคต และว่า ความสามารถในการทำความเข้าใจกับเปลวไฟลุกไหม้ในยานอวกาศเป็นสิ่งที่มีการมุ่งศึกษาในการทดลองที่ทำกันมาหลายครั้งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการทดลองจุดไฟที่มีขนาดเล็ก แต่เพื่อที่จะเข้าใจเปลวไฟจริงๆ เราจะต้องศึกษาเปลวไฟในขนาดความเป็นจริงมากขึ้น

Advertisement

รายงานข่าวระบุว่า ผลการทดลองครั้งนี้ที่เรียกว่า “แซฟไฟร์-1” ยังจะช่วยกำหนดได้ว่าวัสดุป้องกันการติดไฟเป็นพิเศษที่ใช้ในยานอวกาศและชุดของนักบินอวกาศควรจะต้องมีความต้านทานไฟได้ขนาดไหน นอกจากนี้ ผลการทดลองยังจะช่วยนาซาในการพัฒนาระบบตรวจจับและดับไฟบนยานอวกาศ และการศึกษาสภาวะไร้น้ำหนักและการมีอ๊อกซิเจนในปริมาณจำกัดว่าจะมีผลต่อขนาดของเปลวไฟอย่างไร

นาซาคาดว่าไม่กี่วันหลังการทดลองจุดไฟในยานซิกนัส ซากส่วนที่เหลือของตัวยานอวกาศไร้คนขับลำนี้จะตกลงสู่พื้นโลก โดยจะแตกสลายเป็นชิ้นในชั้นบรรยากาศโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image