โลกแซด!องค์กรพุทธไทยมอบรางวัลผู้นำดีเด่น “พระวีระธุ” ผู้นำพุทธหัวรุนแรงในพม่า

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นางลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข่าวว่าพระวีระธุ ผู้นำองค์กรมะบะธะ(Ma Ba Tha) ของพม่า ได้รับรางวัลผู้นำดีเด่นจากประเทศไทย จึงได้ตรวจสอบข่าวจากเมียนมาไทม์ และแฟนเพจของพระวีระธุ พบว่าเป็นความจริง โดยข่าวที่เป็นภาษาพม่า ระบุว่าองค์กรสงฆ์ระดับชาติของไทยร่วมกับกลุ่มเยาวชนพุทธ จัดงานวันมาฆบูชาขึ้นที่วัดธรรมกาย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีการมอบรางวัล “ผู้นำดีเด่น” ให้กับภาคีผู้นำชาวพุทธทั่วโลกซึ่งเป็นรางวัลที่มีการมอบกันมาตั้งแต่ปีค.ศ.2014 โดยในเมียนมาไทม์ ระบุคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำองค์กรมะบะธะว่า ทางมะบะธะต้องแข่งขันกับอีกหลายองค์กรพุทธทั่วโลกอีก 40 ประเทศ จึงได้รับรางวัลผู้นำดีเด่นจากประเทศไทย แต่ในข่าวไม่ได้ระบุว่ามีกี่องค์กรได้รับรางวัล

พระวีระธุ2

นางลลิตา กล่าวต่อว่า ข่าวปรากฏในพม่าแต่ไม่ปรากฏในไทย เข้าใจว่าองค์กรสงฆ์ไทยที่จัดงานไม่ได้ตระหนักถึงความบอบบางของชื่อเสียงของพระวีระธุว่า สำหรับองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกแล้ว มองว่าพระวีระธุเป็นพระที่ใช้ความรุนแรงกับศาสนาอื่น พระวีระธุมีชื่อด้านพระนักเทศน์และสังคมจับตามองเมื่อมีประเด็นโรฮิงญาในปีค.ศ.2012 โดยมีบทบาทบอกให้สังคมชาวพุทธตอบโต้ศาสนาอื่น ฉะนั้นในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชน จึงมองว่าเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงและมีภาพลอบบียิสต์ด้วย ในปีที่ผ่านมา องค์กรมะบะธะได้เสนอกฎหมายหลายฉบับเข้าสภาฯ และ 1 ในกฎหมายที่ผ่านสภาฯ คือการห้ามคนต่างศาสนาแต่งงานกัน ก่อนแต่ง ต้องมีใบรับรองว่าทั้งสองฝ่ายเป็นศาสนาเดียวกัน ถึงจะแต่งงาน จดทะเบียน กันได้

นางลลิตากล่าวอีกว่านอกจากเดินทางมาร่วมงานมอบรางวัล แล้ว ยังปรากฏภาพพระวีระธุ ไปร่วมงานเสวนาวิกฤตการณ์ศาสนาทั่วโลก ร่วมกับพระจากประเทศกัมพูชา ศรีลังกา เป็นต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย

Advertisement

พระวีระธุ3

ด้านนายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพุทธศาสนา กล่าวว่า กรณีที่องค์กรพุทธศาสนิกชนโลก วัดบางแห่ง รวมทั้งองค์กรสงฆ์ไทย มอบรางวัลปกป้องพระพุทธศาสนาดีเด่นให้กับพระวีระธุ  มองว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกที่วัดและองค์กรสงฆ์ไทย ไปรองรับความรุนแรงในพม่า ทั้งๆ ที่ควรจะต่อต้านด้วยซ้ำ เรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้พุทธศาสนา ถูกบัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เรื่องรัฐและศาสนาควรแยกจากกัน

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า กรณีที่กระแสสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการมอบรางวัลแก่พระสงฆ์พม่านั้น เป็นการเข้าใจผิด วัดพระธรรมกายไม่ได้เป็นผู้จัดงานดังกล่าว อีกทั้งการมอบรางวัล วัดพระธรรมกายไม่ได้เป็นผู้มอบรางวัลให้

Advertisement

นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และ มจร เพราะองค์กรนี้เป็นองค์กรเอกชน ไม่สังกัดหน่วยงานรัฐใด ส่วนการมอบรางวัลผู้นำชาวพุทธโลกนั้นได้คัดสรรองค์กร พระสงฆ์ และฆราวาสทั่วโลก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านศาสนามารับรางวัล เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนากรณีพระวิระธุ ยืนยันว่าไม่ได้มอบให้โดยตรง แต่มอบให้องค์กรสันติภาพมะบะธะ ในเมียนมาที่ท่านสังกัด โดยมอบในฐานะที่มีผลงานดังนี้ 1.ด้านสาธารณสงเคราะห์ ในฐานะที่องค์กรสันติภาพมะบะธะช่วยเหลือชาวเมียนมาช่วงน้ำท่วม 2.ช่วยเหลือสตรีที่ถูกทำร้าย 3.สร้างโรงเรียนสอนธรรมะให้เยาวชน 4.รณรงค์อนุรักษ์เจดีย์ชเวดากอง และ 5.ผลักดันกฎหมายปกป้องสิทธิสตรี โดยมีพระภัททันตะ ติโลกาภิวังสา ประธานองค์สันติภาพ มะบะธะ เดินทางมารับรางวัลที่ไทยด้วยตนเอง

นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะองค์กรเอกชนไม่ได้อยู่ในการดูแลกำกับของ พศ.ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ที่มอบรางวัลใ ไม่ขอวิจารณ์ เพราะไม่ทราบเกณฑ์การพิจารณาในการมอบรางวัลจริงๆ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่พระวิระธุเดินทางมาที่ มจร เพราะ มจร ไม่ได้เชิญอย่างเป็นทางการ ส่วนจะมีอาจารย์ท่านใดเชิญมาเป็นกรณีพิเศษในรายวิชาที่สอน ก็ทำได้ เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ แต่ไม่เกี่ยวกับ มจร

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image