อีก2ปีนาซาส่ง”อินไซท์” ลงสำรวจดาวอังคาร

ภาพ-Project INSIGHT- NASA

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนกำหนดการส่ง “อินไซท์” ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำใหม่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นเดือนพฤษภาคม 2018 หลังจากประสบปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจสำคัญที่จำเป็นต้องทำงานภายใต้ภาวะสุญญากาศที่สมบูรณ์แบบ

“อินไซท์” เป็นชื่อย่อจากชื่อโครงการสำรวจใหม่นี้ที่ยาวเหยียดว่า “การสำรวจภายในโดยใช้การตรวจสอบความเคลื่อนไหวเชิงธรณีวิทยาและการส่งผ่านความร้อน” (Interior Exploration using Seismic Investigations Geodesy and Heat Transport-INSIGHT) ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่าดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยหินอย่างเช่น ดาวอังคารและโลกเราก่อตัวขึ้นมาอย่างไรและวิวัฒนาการต่อมาอย่างไร ซึ่งเป็นองค์ความรู้เป้าหมายที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์พยายามศึกษาทำความเข้าใจมานานหลายทศวรรษแล้ว

“อินไซท์” เป็นยานสำรวจพื้นผิวลำแรกที่มุ่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยอาศัยอุปกรณ์สำคัญ 2 ชิ้น เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยาและข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผันแปรของอุณหภูมิลึกลงไปใต้พื้นผิวของดาวอังคาร

โครงการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นโครงการนานาชาติ โดยมีนาซาเป็นองค์กรหลัก ทำงานกำหนดโครงการภายใต้ความร่วมมือกับ “ซองเทรอ นาซิยงนาล เดตูดส์ สปาซิอาลส์” (ซีเอ็นอีเอส) ซึ่งเป็นองค์การสำรวจอวกาศของฝรั่งเศส และสำนักงานอวกาศแห่งเยอรมนี (จีเอสเอ) ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์สำรวจครั้งนี้ ส่วนทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการนั้นรวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากประเทศต่างๆมากถึง 11 ประเทศ

Advertisement

กำหนดการเดินทางของอินไซท์ล่าช้าไปร่วม 2 ปี หลังจากในการทดสอบเมื่อเดือนธันวาคม 2015 พบว่าอุปกรณ์ตรวจวัดและเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือนของพื้นดินหรือ ซิสโมมิเตอร์ (ซิส) ซึ่งจัดสร้างโดยซีเอ็นอีเอส ที่จำเป็นต้องทำงานภายใต้สุญญากาศเกิดข้อบกพร่องขึ้น เมื่อระบบสุญญากาศรั่วไหลแม้ว่าตัวอุปกรณ์จะทำงานปกติ แต่ภายใต้สภาพพื้นผิวดาวอังคารซิสจำเป็นต้องมีห้องสุญญากาศป้องกัน เมื่อวิศวกรไม่สามารถค้นหาสาเหตุการรั่วไหลและแก้ไขได้ทันจึงจำเป็นต้องเลื่อนการเดินทางออกไปดังกล่าว

ต่อมาทีมวิศวกรสามารถหาวิธีแก้ไขการรั่วไหลนี้แล้ว แต่ต้องออกแบบ จัดสร้างและทดสอบประสิทธิภาพของห้องบรรจุสุญญากาศดังกล่าวใหม่หมด โดยกำหนดให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2017 เพื่อให้ได้ห้องบรรจุอุปกรณ์ซิสโมมิเตอร์สุญญากาศที่สามารถรักษาสภาพการเป็นสุญญากาศได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตอนส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ตอนลงพื้นดาวอังคาร ตอนติดตั้งอุปกรณ์บนพื้นผิวดาวอังคาร เรื่อยไปจนถึงการปฏิบัติภารกิจที่จะกินระยะเวลานานอย่างน้อย 2 ปีบนดาวอังคาร

โครงการส่งยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารอินไซท์ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจส่งมนุษย์อวกาศไปลงยังดาวเคราะห์ดวงนี้ โดยก่อนหน้าภารกิจดังกล่าว นาซายังมีโครงการส่งยานหุ่นยนต์ลงไปสำรวจพื้นผิวอีกครั้งในปี 2020 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดส่งและแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมบนดาวอังคารให้มากที่สุด

ก่อนที่ “การเดินทางสู่ดาวอังคาร” หรือ “เจอร์นีย์ ทู มาร์ส” ของมนุษย์จะเริ่มต้นขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image