Cloud lovers : มองปลายฟ้า…หา Omega Sun : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 2 : ดวงอาทิตย์รูปโอเมกายามเช้า 26 พฤศจิกายน 2558 06:34 น. หาดปึกเตียน เพชรบุรี ภาพ : นรินทร์พัชร บุณโยทัย

ในตอนกลางวันแดดเปรี้ยง คุณผู้อ่านคงเคยเห็นภาพ “แอ่งน้ำ” บนพื้นถนนอยู่ไกลออกไปพอประมาณ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ภาพแอ่งน้ำที่ว่านี้กลับหายวับไป ภาพลวงตาแบบนี้เรียกว่า มิราจ (mirage) มาจากคำว่า mirage ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ภาพมายา ส่วนรากศัพท์ลึกๆ มาจากคำว่า mirari ในภาษาละติน แปลว่า รู้สึกฉงน ลองนึกถึงคำว่า miracle ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า น่าอัศจรรย์ ก็ได้ เพราะมีรากมาจากภาษาละตินคำเดียวกันนี้ครับ

ภาพที่ 1 : “แอ่งน้ำลวงตา” บนถนนร้อนๆ
ภาพ : ชนม์นิภา ธนบุญสมบัติ

ภาพแอ่งน้ำลวงตามาจากไหน? อธิบายแบบรวบรัดได้ว่า พื้นร้อนจัดทำให้อากาศที่อยู่ใกล้พื้นร้อนตามไปด้วย ในขณะที่อากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปเย็นกว่า ทำให้รังสีของแสงจากวัตถุบางส่วนเบี่ยงโค้งหงายขึ้น ผลก็คือ เราจะเห็นภาพหนึ่งที่ตรงมาจากวัตถุนั้น และอีกภาพหนึ่งมาจากรังสีของแสงที่เบี่ยงโค้งเป็นภาพหัวกลับอยู่ใต้ภาพแรก

ภาพหัวกลับนี้จึงดูเหมือนเงาสะท้อนที่เกิดจากแอ่งน้ำนั่นเอง และเนื่องจากภาพหัวกลับนี้อยู่ใต้วัตถุจริง (เช่น รถยนต์ในภาพที่ 1) จึงเรียกว่า มิราจแบบอยู่ใต้วัตถุจริง (inferior mirage)

คราวนี้เปลี่ยนพื้นผิวร้อนๆ เป็นผิวน้ำทะเลอุ่นๆ และเปลี่ยนรถยนต์เป็นดวงอาทิตย์ สิ่งที่เห็นก็จะเป็นดังภาพที่ 2

Advertisement
ภาพที่ 2 : ดวงอาทิตย์รูปโอเมกายามเช้า 26 พฤศจิกายน 2558 06:34 น. หาดปึกเตียน เพชรบุรี
ภาพ : นรินทร์พัชร บุณโยทัย

ฝรั่งมองแล้วบอกว่าคล้ายตัวอักษรโอเมกาของกรีก จึงเรียกว่า ดวงอาทิตย์รูปโอเมกา (Omega Sun) บ่อยครั้งมักระบุไว้ด้วยว่าเป็น Omega Sunrise ตอนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ Omega Sunset ตอนดวงอาทิตย์ตก

ภาพที่ 3 : แจกันอีทรัสคัน
ภาพ : http://history2701.wikia.com/ wiki/Etruscan_vase

ใช่ว่าฝรั่งทุกคนจะเห็นตรงกันหมด อย่าง จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) นักเขียนชื่อดัง เรียกปรากฏการณ์นี้ช่วงอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าว่า ดวงอาทิตย์ตกรูปแจกันอีทรัสคัน (Etruscan Vase Sunset) คุณผู้อ่านลองดูรูปร่างของแจกันอีทรัสคันในภาพที่ 3 แล้วตัดสินใจเองว่าจะเรียกตามจูลส์ เวิร์นไหม

ในกรณีดวงอาทิตย์ตก คนญี่ปุ่นทางแถบอ่าวซุคุโมะ (Sukomo Bay) เรียกดวงอาทิตย์รูปโอเมกาว่า ดารุมะซันเซต (Daruma Sunset) หรือ ดวงอาทิตย์ตกนำโชค (Lucky Sunset) คำว่า ดารุมะ หมายถึง ตุ๊กตาดารุมะซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนท่านโพธิธรรม และยังสื่อถึงความอุตสาหะและความโชคดีอีกด้วย ดูภาพที่ 4 ครับ

Advertisement
ภาพที่ 4 : ตุ๊กตาดารุมะ
ภาพ : http://japancraft.co.uk/daruma-3.html

ตุ๊กตาดารุมะนี้ใช้ในการขอพร เริ่มแรกตุ๊กตายังไม่มีตาทั้งสองข้าง เมื่ออธิษฐานขอพรในสิ่งที่ต้องการ จะเขียนพรที่ขอด้วยตัวอักษรคันจิไว้ที่ด้านล่างใต้คาง รวมทั้งอาจเขียนความปรารถนาเพิ่มเติมไว้ข้างศีรษะด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นจะวาดรูปดวงตาสีดำไว้ 1 ข้าง หากคำอธิษฐานเป็นจริงก็จะวาดดวงตาสีดำที่เหลืออีกข้างหนึ่ง แล้วนำตุ๊กตาไปไว้บนหิ้งบูชา หรือนำไปเผาไฟที่วัดในช่วงปลายปี

คุณผู้อ่านที่อยากเก็บภาพดวงอาทิตย์รูปโอเมกาจำเป็นต้องใช้กล้องที่ซูมได้มากสักหน่อย ส่วนสถานที่ขอแนะนำชายทะเล เพราะมีโอกาสเห็นได้ง่ายกว่าพื้นที่ลักษณะอื่นๆ (เคยมีผู้ถ่ายภาพดวงอาทิตย์รูปโอเมกาได้จากที่อื่น เช่น พื้นถนนร้อนๆ)

หลักการคือ คุณต้องเลือกช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นหรือลับขอบฟ้าเหนือทะเล และลุ้นไม่ให้มีเมฆบดบังดวงอาทิตย์มากนัก ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยู่ที่ชายหาดในประเทศไทย โดยที่

ทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก (เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ) ก็ให้รอ Omega Sunrise ในช่วงเช้า

ทะเลอยู่ทางทิศตะวันตก (เช่น ชายทะเลส่วนใหญ่ทางแถบอันดามัน) ก็ให้รอ Omega Sunset ในช่วงเย็น

หากคุณผู้อ่านเก็บภาพดวงอาทิตย์รูปโอเมกาได้ ก็ส่งภาพมาอวดผมบ้างนะครับ รอชมด้วยใจระทึกทีเดียว! 😀

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำข้อมูล Etruscan Vase or “Omega” Sunsets
ที่ http://atoptics.co.uk/atoptics/sunmir2.htm หรือสแกน QR Code

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image