การทรงกลดพิศวงที่ Vemdalen : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามหลายครั้งจากเพื่อนๆ ใน facebook เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทรงกลดในคลิปคลิปหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเพจ Severe Weather Europe เป็นคลิปที่แสดงการทรงกลดสุดอลังการซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน Vemdalen ประเทศสวีเดน คลิปนี้มีคนรับชมกว่า 7 ล้านครั้ง มียอดแชร์สูงกว่า 28,600 ครั้ง
ตัวอย่างเส้นทรงกลดจากเหตุการณ์นี้แสดงไว้ในภาพที่ 1 และ 2 หากต้องการชมคลิปให้ส่อง QR code ในภาพที่ 3 ครับ

ภาพที่ 1 : การทรงกลดที่ Vemdalen เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2017
ภาพที่ 2 : อีกมุมหนึ่งของการทรงกลดที่ Vemdalen
ภาพที่ 3 : คลิปการทรงกลดที่ Vemdalen

จากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่เพจ Severe Weather Europe ให้ไว้เกี่ยวกับชื่อเรียกเส้นทรงกลดแบบต่างๆ มีทั้งที่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน ผมจึงได้จัดทำแผนภาพแบบชัดๆ มาให้ชมกัน ดังภาพที่ 4 ครับ


ภาพที่ 4 : การทรงกลดจำลอง (ชื่อเรียกแต่ละเส้นระบุไว้ในบทความ)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ผมใช้โปรแกรม HaloPoint 2.0 เพื่อคำนวณการทรงกลดที่ Vemdalen โดยมีตัวแปรสำคัญ ได้แก่ มุมเงยของดวงอาทิตย์เท่ากับ 2.2 องศา และใช้ผลึกน้ำแข็ง 4 แบบ เพื่อทำให้เกิดการทรงกลดตามที่ปรากฏในคลิป พบว่ามีการทรงกลดอย่างน้อย 8 แบบ อย่างนี้นะครับ (ตัวเลขอ้างอิงตามภาพ)

1) การทรงกลดวงกลม 22 องศา (22-degree circular halo) : วงกลมรัศมี 22 องศา มีดวงอาทิตย์ที่จุดศูนย์กลาง
2) ซันด็อก (sundogs) หรือ พาร์ฮีเลีย (parhelia) : บริเวณสว่างจ้าด้านซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์
3) วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle) : เส้นสีขาวลากผ่านดวงอาทิตย์และซันด็อกทั้งสองข้าง (เห็นเป็นเส้นค่อนข้างตรง เพราะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของวงกลมขนาดใหญ่)
4) พิลลาร์บน (upper pillar) : แถบแสงพุ่งขึ้นจากดวงอาทิตย์
5) พิลลาร์ล่าง (lower pillar) : แถบแสงพุ่งลงจากดวงอาทิตย์ (สังเกตว่าพิลลาร์ล่างชัดกว่าพิลลาร์บนในกรณีนี้)
6) เส้นโค้งสัมผัสด้านบน (upper tangent arc) : เส้นโค้งหงายรูปร่างคล้ายนกกางปีก และแตะขอบบนของวงกลมขนาด 22 องศา
7) เส้นโค้งแพร์รีแบบหันด้านนูนเข้าหาดวงอาทิตย์เส้นบน (upper sunvex Parry arc) : เส้นโค้งรูปตัว V อยู่เหนือเส้นโค้งสัมผัสด้านบน
8) เส้นโค้งซูพราแลตเทอรัล (supralateral arc) : แถบสีรุ้งด้านซ้ายและขวา หันสีแดงเข้าหาดวงอาทิตย์
ในการทรงกลดจำลองยังมีเส้นอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏในคลิป เนื่องจากเส้นเหล่านี้จางมาก หรืออยู่ต่ำเกินไปครับ
มีเรื่องน่ารู้คือ การทรงกลดในเหตุการณ์นี้เกิดจากแสงอาทิตย์หักเหหรือสะท้อนโดยผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กจิ๋วที่ล่องลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นดิน ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้เรียกว่า ไดมอนด์ดัสต์ (diamond dust)
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากกลับไปชมคลิปและอ่านข้อมูลในข่าวอีกครั้ง ก็จะช่วยให้แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดถูกต้อง ข้อมูลใดคลาดเคลื่อน เป็นการเรียนรู้สนุกๆ จากกรณีจริง และนำไปแชร์ให้เพื่อนๆ ที่สนใจได้เข้าใจด้วยครับ

Advertisement

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

การทรงกลดยังมีรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย หากสนใจขอแนะนำ Cloud Guide คู่มือเมฆและปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศ ติดต่อ สนพ.สารคดี โทร 0-2547-2700 ต่อ 116 (คุณณี) หรือ Line ID : 0815835040

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image