ชาวบ้าน แม่โขง เครียดจัด น้ำสูงผิดธรรมชาติ สร้างความเสียหายหนัก

นายประยูร แสนแอ สมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่หาดสำคัญในเขต อ.เชียงคาน คือหาดไข่ และแก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงตามปกติของฤดูแล้ง คือน้ำแห้งจนเห็นก้อนหินและหาดทรายโผล่ขึ้นมา แต่เวลานี้น้ำขึ้นท่วมหาดจนมองเห็นเพียงต้นไคร้น้ำ 4-5 ต้นเท่านั้นโดยช่วงน้ำที่น้ำโขงลดระดับ ทำให้ไก หรือไค (สาหร่ายแม่น้ำโขง) เกิดออกมาตามหาดหิน แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงกลับเพิ่มขึ้นและไหลแรง ไกจึงหลุดออกมาติดแห อวนของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

นายประยูรกล่าวต่อไปว่า ตนและเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทราบข่าวจากโทรทัศน์ ที่มีการรายงานข่าวเรื่องเขื่อนจีนระบายน้ำ และรู้สึกกังวลแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทราบจากข่าวว่าจีนจะเปิดน้ำถึงวันที่ 10 เมษายน ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มฤดูกาลหาปลาในแม่น้ำโขง เฉพาะบ้านเหนือ อ.เชียงคาน ก็มีคนหาปลาประมาณ 50 คน ซึ่งกำลังลำบากกับการหาปลาช่วงนี้เพราะน้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นอย่างกระทันหัน อยากให้แม่น้ำโขงได้ไหลตามสภาพธรรมชาติแบบเดิมมากกว่า

“พวกเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ยอมรับกันไป แม้น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นมากกลางหน้าแล้งแบบนี้ เราก็ยังต้องหาปลาเช่นเดิม ผมได้ยินว่าจะมีเขื่อนสานะคาม ที่สร้างกั้นน้ำโขงเป็นแห่งที่ 4 ใกล้ๆ อ.เชียงคาน เชียงคาน คิดว่าอนาคตน่าจะลำบาก เพราะแม่น้ำโขงมีเขื่อนเต็มไปหมด” นายประยูร กล่าว

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่ม น้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านที่หาดแห่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต่างวิตกกังวล กรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูแล้งหลายปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นคือหาดทรายหายไป ร่องน้ำเปลี่ยน พื้นที่ริมโขงหายไป พื้นที่ปลูกผักริมโขงลดลง และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน

Advertisement

รายงานภาคสนามของ คสข. ระบุว่ากรณีที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำในปริมาณ 2,100 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะทำให้น้ำโขงขึ้นมาหาดทรายซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ของท้องถิ่น ทำให้การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวสูงขึ้น ร้านค้าริมหาดได้รวมกันทำสะพานเชื่อมจากชายฝั่งไปยังร้านค้าบนหาดทราย ซึ่งต้องออกแบบความสูง ความแข็งแรงทนทาน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่นก็ขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจาก เขื่อนครั้งนี้

รายงานของคสข.ระบุด้วยว่าเจ้าของร้านค้าชายหาดแจ้งว่าราว 5 ปีที่แล้วสามารถตั้งร้านที่หาดแห่ได้ ตั้งแต่ก่อนช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำโขงค่อยๆ ลดระดับลง หาดแห่จะอยู่จนถึงช่วงหลังสงกรานต์ จนเมื่อถึงฤดูฝนก็จะจมไปเมื่อน้ำโขงเพิ่มระดับตามฤดูกาล ชาวบ้านแถบนี้มีรายได้จากการขายอาหารเครื่องดื่ม ในเทศกาลท่องเที่ยวหน้าแล้งราว 5-6 เดือน (ธันวาคม-เมษายน) ประมาณ 5 แสนถึง1 ล้านบาทต่อ 1 ร้านค้าหรือเฉลี่ยเดือนละเกือบแสนบาท แต่ 2-3ปีที่ผ่านมา น้ำโขงเปลี่ยนแปลงมาก ระดับน้ำขึ้นลงไม่ตามฤดูกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image