อดีตรมว.ศึกษาฯ ชี้คำสั่งคสช. ปฏิรูปการศึกษาไม่ตอบโจทย์ ระวังได้ก้อนอิฐ

ปชป.ชี้คำสั่ง คสช.ปฏิรูปการศึกษา ไม่ตอบโจทย์ “ชินวรณ์” แนะ 3 แนวทางปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพ ทั้งคุณภาพครูและผู้เรียน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า การออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่ง ที่11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สร้างความฮือฮาให้กับชาวกระทรวงศึกษาธิการและประชาชนที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างจากครั้งที่ประกาศใช้มาตรา 44 ยุบกองการศึกษาอาชีวะเอกชนมาอยู่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเหมือนกับการเอาดาบอาญาสิทธิ์ มาดายหญ้า นอกจากผิดหลักการแล้ว ยังไม่มีผลต่อการปฏิรูปการอาชีวศึกษาเลย แต่การประกาศคำสั่ง คสช. ล่าสุด ย่อมมีผลสะเทือนต่อการปฏิรูปการศึกษาแน่นอน แต่ในเบื้องต้นเห็นว่าคำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้ ควรมีแนวทาง คือ 1.มองถึงปัญหาการศึกษาของชาติไม่เป็นองค์รวม ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย และผู้บริหารกระทรวง ในแต่ละยุคสมัยไม่มีความรู้ ประกอบกับครูและบุคลากรทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ขาดคุณภาพ การแก้ปัญหาการบริหารกระทรวงในภูมิภาคจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า 2.เน้นเรื่องความเรียบร้อย และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและความไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัญหาดำรงอยู่จริง แต่ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทางสากล และ 3.ถึงแม้คำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้จะเน้นการบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วจุดหลักของคำสั่งเน้นที่การบริหารงานบุคคล เอาอำนาจการแต่งตั่งโยกย้ายมาไว้ที่คนคนเดียว และจัดตั้งองค์กรใหม่ในระดับภูมิภาค จำนวน 18 ภูมิภาคและจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้งที่หน่วยงานเขตพื้นที่ก็ยังคงมีทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่สำคัญหน่วยงานการศึกษาในระดับอาชีวะและระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้ามาร่วมบูรณาการเลย

นาชินวรณ์กล่าวอีกว่า ดังนั้นขอเสนอแนะ ดังนี้ 1.หากจะปฏิรูปการศึกษาควรจะดำเนินการโดยองค์รวมอย่างจริงจัง 2.การปฏิรูปการเรียนรู้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพครู หากไม่สามารถสร้างครูดีครูเก่งได้ภายใน 10 ปี การศึกษาไทยจะล้มเหลวมากกว่านี้ และ 3.การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หากจะปฏิรูปการศึกษาจะต้องดำเนินการให้โปร่งใส ให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม หวังว่าการแก้ปัญหาการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคคงมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาโดยองค์รวมต่อไป เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และมีศักยภาพในการแข่งขันกับสังคมโลกในยุคที่ 4 หรือยุคดิจิตอลในอนาคต อย่าเป็นเพียงที่เพื่อจะหวังให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นฐานทางการเมือง สุดท้ายท่านจะได้ก้อนอิฐมากกว่าเสียงปรบมือ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image