Cloud Lovers : Radiatus…เมฆ ‘แผ่รังสี’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

หากเมฆจัดเรียงตัวเป็นแนวขนานกันบนฟ้าและแนวเมฆยาวมากเพียงพอ เมื่อมองจากบางมุม แนวเมฆจะดูเหมือนพุ่งออกมาจากจุดใดจุดหนึ่งที่ปลายฟ้าเนื่องจากลักษณะเพอร์สเปกทีฟ ดูทิศทางลูกศรในภาพที่ 1 สิครับ ลักษณะเช่นนี้นักดูเมฆเรียกว่า พันธุ์เรดิเอตัส (radiatus) คำว่า radiatus เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา radiare หมายถึง แผ่รังสี ตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ radiate นั่นเอง

มองภาพที่ 1 อีกครั้งจะเห็นว่าแนวเมฆอาจเรียงขนานกันค่อนข้างเนี้ยบ (ด้านซ้ายล่าง) หรือแนวเมฆอาจจะบิดโค้งได้บ้าง แต่โดยรวมดูขนานล้อกันไป (ด้านขวาบน) ก็ได้

ภาพที่ 1 : ภาพแสดงลักษณะพันธุ์ “เรดิเอตัส (radiatus)”
ดัดแปลงจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d7/Altocumulus_radiatus_clouds.jpg

Advertisement

หากไล่ระดับจากต่ำไปสูง เมฆพันธุ์เรดิเอตัสเกิดในเมฆสกุลต่างๆ 5 สกุล ได้แก่ คิวมูลัส (Cumulus) สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส (Altostratus) และ ซีร์รัส (Cirrus) มาดูตัวอย่างกันชัดๆ ดังนี้ครับ

ภาพที่ 2 แสดง คิวมูลัส เรดิเอตัส (Cumulus radiatus) จะเห็นว่าเมฆก้อนเล็กๆ เรียงตัวเป็นแนวขนานกัน ค่อนข้างเป็นระเบียบ บางครั้งฝรั่งเรียกง่ายๆ ว่า “cloud street” หรือ “ถนนเมฆ” แต่เพื่อนๆ คนรักเมฆของผมหลายคนบอกว่าคล้ายแปลงผัก

เว็บ International Cloud Atlas ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า เมฆก้อนคิวมูลัสที่มักจะแสดงลักษณะเรดิเอตัสมักจะเป็นคิวมูลัส มีดิโอคริส (Cumulus mediocris) คำว่า mediocris หมายถึงเมฆก้อนคิวมูลัสขนาดกลาง (ลองนึกถึงคำว่า medium-sized ก็ได้)

Advertisement

ในเชิงวิชาการ Cumulus radiatus หรือ cloud street เกิดจากการที่กระแสอากาศหมุนวนเป็นม้วนยาวๆ ขนานกันบริเวณผิวพื้น เรียกว่า Horizontal Convective Rolls (HCRs) ประเด็นนี้เอาไว้จะเจาะลึกให้อ่านกันอีกทีนะครับ

ภาพที่ 2 : Cumulus radiatus
เสาร์ 30 กันยายน 2560 10.28 น. สงขลา
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 3 แสดง สเตรโตคิวมูลัส เรดิเอตัส (Stratocumulus radiatus) ลองลากลูกศรแสดงแนวเมฆในใจดูได้ ในขณะเดียวกัน เมฆในภาพนี้ยังแสดงลักษณะลอนคลื่น หรือพันธุ์อันดูเลตัส (undulatus) อีกด้วย ดังนั้น ชื่อที่สมบูรณ์กว่าคือ สเตรโตคิวมูลัส อันดูเลตัส เรดิเอตัส (Stratocumulus undulatus radiatus)

ภาพที่ 3 : Stratocumulus radiatus
25 กุมภาพันธ์ 2560 08.30 น. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 4 แสดง แอลโตคิวมูลัส เรดิเอตัส (Altocumulus radiatus) ซึ่งแสดงลักษณะการ “แผ่รังสี” หรือ radiatus อย่างเด่นชัด ลักษณะลอนคลื่นยังทำให้เมฆนี้เป็นแอลโตคิวมูลัส อันดูเลตัส เรดิเอตัส (Attocumulus undulatus radiatus) อีกด้วย

ภาพที่ 4 : Altocumulus radiatus
ภาพ : ชัยวัฒน์ ตั้งประดิษฐ์

ภาพที่ 5 แสดง แอลโตสเตรตัส เรดิเอตัส (Altostratus radiatus) ซึ่งเว็บ International Cloud Atlas ระบุว่าเป็นเมฆหายาก (และผมคิดว่าดูยากด้วย คือแนวเส้นจะไม่ค่อยเด่นชัด)

ภาพที่ 5 : Altostratus radiatus
ภาพ : Dr.Martin Gudd

ภาพสุดท้าย ภาพที่ 6 แสดง ซีร์รัส เรดิเอตัส (Cirrus radiatus) ลองจินตนาการเติมลูกศรเข้าไปตามแนวเมฆแต่ละแนว จะพบว่าคล้ายๆ กับเมฆในภาพนี้พุ่งออกมาจากจุดกำเนิดที่ปลายฟ้าทางด้านซ้ายของภาพ แนวเส้นของเมฆซีร์รัส เรดิเอตัส ยังบ่งถึงแนวทิศทางลมในระดับที่เมฆนี้เกิดขึ้นอีกด้วย

ภาพที่ 6 : Cirrus radiatus
ศุกร์ 29 ธันวาคม 2560 12.03 น. พระรามสาม
ภาพ : ปานบัว บุนปาน

เมื่อได้รู้จักลักษณะเรดิเอตัสแล้ว หากนึกสนุกก็ลองมองหาเมฆพันธุ์นี้บนฟ้าได้เลย ถ้าโชคดีอยู่ในมุมมองที่เหมาะสม ภาพที่ได้จะสวยงามจับใจทีเดียวครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเว็บของ The Cloud Appreciation Society ที่ https://cloudappreciationsociety.org/

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image