‘บิ๊กหนุ่ย’เล็งให้กศจ.รื้อ’104’คดีที่ค้างอยู่ ปลอบครูอย่าตื่นใช้ม.44 ปฏิรูป สั่งปลัดศธ.หารือปลัดมท.ตั้ง’กศจ.’

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค และเรื่องการบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาค ส่งผลให้มีการยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ และโอนอำนาจมาให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นอกจากนี้ จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการบริหารงานบุคคลและจัดสรรงบฯในระดับภูมิภาค แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ หรือผู้ปฏิบัติงานในตําแหน่งต่างๆ นั้น

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่สาธารณรัฐเกาหลี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.หารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อหาแนวทางการได้มา ซึ่งคณะกรรมการ กศจ. ยกเว้นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดรับสมัคร ตั้งกรรมการขึ้นมา คัดเลือกผู้เหมาะสม ส่วนจะให้ผู้ว่าราชการเลือกผู้เหมาะสมมาเลยชื่อเดียว แล้วให้ตนลงนาม หรือเสนอรายชื่อมาให้พิจารณาคัดเลือกอีกทีนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต้องรอผลการหารือก่อน

“เชื่อมั่นผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะนายกฯให้ผู้ว่าฯรับผิดชอบทุกเรื่องในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ให้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ และผู้บริหารสถานศึกษา แต่เป็นเหมือนฝากงานผู้ว่าฯ ที่ผ่านมาเคยมีคนพูดว่า มีประสบการณ์ไม่ดีกับ มท. แต่ กศจ.ชุดนี้จะไม่เหมือนอดีต เพราะมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทำงานแบบบูรณาการ ที่ต้องจัดโครงสร้างแบบนี้ เพราะต้องเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา จึงขอใช้แนวทางนี้ก่อน ขณะเดียวกัน จะดูระบบไปด้วยว่าไปได้ดีหรือไม่ ถ้าดี ก็จะบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ แต่ถ้าไม่ดี ค่อยว่ากัน ทั้งนี้ ผมในฐานะประธานคณะกรรรมการขับเคลื่อนฯ จะใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะที่จำเป็น โดยในส่วนของการแต่งตั้งโยกย้ายตั้งแต่ระดับรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ลงไปจนถึงผู้บริหารสถานศึกษา เป็นอำนาจของ กศจ. ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เป็นอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว และว่า ครูในพื้นที่ ไม่ต้องตกใจ ทำหน้าที่ของตนเหมือนเดิม มั่นใจว่า กศจ.จะช่วยให้การบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้อำนวยการโรงเรียนดีขึ้น เป็นประโยชน์กับตัวครูเอง การวิ่งเต้นในแบบเดิม ที่เคยมีกับบางที่ บางแห่ง และกับบางคน จะลดลง แต่คงบอกไม่ได้ว่าจะหมดไป

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าโครงสร้างนี้จะแก้ปัญหาให้ครูได้ พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนและขณะนี้ทราบว่ากำลังมีการปลุกระดม แต่ขอว่าอย่าทำเพราะตนมีเจตนาที่จะพัฒนาการศึกษา ถ้าคำสั่งนี้มีช่องว่างตรงไหน ยินดีรับฟัง และแก้ปัญหา แต่อย่าใช้ช่องว่างนั้นไปปลุกระดม ถ้าใครเสนอแนะในทางสร้างสรรค์ตนยินดีรับฟัง แต่ถ้าใครมีเจตนาสร้างความปั่นป่วนหรือบิดเบือน ตนจะให้ไปหาตัวมาให้ได้ ไม่ปล่อยไว้ ทั้งข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ และเมื่อตั้งคณะกรรมการ กศจ.เรียบร้อยแล้ว จะมีการนำคดีค้างตั้งแต่ปี 2553 ที่มีอยู่ 104 คดี กลับมาให้ กศจ.ตรวจสอบใหม่ เพราะเท่าที่ดูบางคดีทำแบบลูบหน้าปะจมูก ช่วยเหลือกัน ทั้งที่ตามระเบียบ ต้องทำให้เสร็จใน 180 วัน

Advertisement

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ตนได้ลงนามให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปศึกษาแนวทาง ว่าในระหว่างยังคัดเลือกคณะกรรมการ กศจ.ไม่เสร็จ ให้คณะกรรมการบางชุดที่อดีต อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯแต่งตั้งไว้ ดำเนินงานต่อเนื่องได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้การทำงานเกิดสุญญากาศ โดยเฉพาะการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะรับสมัครวันที่ 28 มีนาคมนี้ ก็ขอให้ดำเนินการตามเดิม ส่วนการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งต่อไป จะให้จังหวัดดำเนินการแทนอดีต อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และจะพัฒนาไปสู่การใช้ข้อสอบกลาง เพื่อให้ระบบการคัดเลือกมีมาตรฐานเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image