เดินหน้าปฏิรูปครู พฤติกรรมการสอนของ ครู”59 โดย เพชร เหมือนพันธุ์

อาฟเตอร์ช็อกลูกที่สองที่กำลังจะติดตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือการปฏิรูปครู และวิธีการสอนของครู คลื่นลูกนี้จะไหลตามมาแต่รู้สึกว่าแรงค่อนข้างจะแผ่วลงแล้วเพราะขาดแรงกระตุ้นจากแหล่งกำเนิดของนโยบาย ครูก็เหมือนกับช่างก่อสร้าง แม้พิมพ์เขียวรูปแบบรายการของสิ่งประดิษฐ์จะเขียนออกมาได้สวยงามถูกแบบวิศวกรรมเพียงใด แต่ถ้าได้ช่างที่ไร้ฝีมือมาก่อสร้างผลงานที่ออกมาก็จะเป็นหายนะได้

วันนี้คุณภาพการศึกษาไทยในทุกระดับได้เดินทางมาถึง “จุดวิกฤต” ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี ความจริงได้ตกต่ำมาตั้งแต่ก่อนเกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 แล้ว ในขณะที่วันนี้โลกกำลังเดินทางมาถึง “จุดพลิกผัน” ที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกในยุคดิจิตอล ที่ความรู้วิทยาการต่างๆ เปลี่ยนสถานที่อยู่ จากครูไปอยู่ใน Google ไปอยู่ในก้อนเมฆ (Cloud) แต่คุณภาพการศึกษาไทยจากการทดสอบของ สทศ.พบว่าคะแนนเฉลี่ยตกเกือบทุกรายวิชา (ยกเว้นวิชาภาษาไทยวิชาเดียว ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 56.65) ในรายวิชาที่สอบตก คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 20-30 คะแนน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. บอกว่าเท่ากับเด็กไม่มีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากการเรียนเลย

เยธัมมา เหตุ ปัปภวา ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ “เหตุเกิดที่ไหนให้แก้ที่นั่น” คำถามว่า หลักสูตรไม่ดี เด็กไม่มีความรู้ ครูสอนไม่เป็น หรือข้อสอบไม่ดี ไม่ลองดำน้ำลงไปดูเพื่อให้รู้ว่าตาข่ายดักปลาที่เอาไปดักติดตั้งไว้ใต้น้ำนั้นปลาหนีรอดไปได้อย่างไร

ในสมัยก่อนคนที่จะเป็นครูต้องเก่ง ต้องไปเรียนเป็นเด็กประจำนอนหอพักวิทยาลัย ต้องผ่านการปลูกฝังสายเลือดของความเป็นครูตลอด 24 ชั่วโมง ได้ผ่านการฝึกสอนในสถานศึกษาจริง มีการคัดเลือกเอานักเรียนเก่งหัวกะทิในระดับจังหวัดให้ไปเรียนครู เป็นเด็กประจำอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ โดยมีทุนการศึกษาให้ คนที่เรียนจบครูมาในสมัยนั้น หลายท่านได้ตำแหน่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ มีหลายท่านที่ไปทำงานตำแหน่งใหญ่ในหน่วยงานอื่นระดับประเทศ เช่นเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี การผลิตครูอยู่ในสมัยนั้น อยู่ในสถาบันการศึกษาของรัฐเท่านั้นสถาบันเอกชนไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตครู

Advertisement

พ.ศ.2513-2535 ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการขยายการศึกษาภาคบังคับถึง ม.3 รัฐบาลได้ผลักดันส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาลัยครูและสถาบันทั้งรัฐและเอกชนต่างต้องผลิตครูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เปิดเรียนครูภาคค่ำ (Twilight) คนที่มาสมัครเรียนครูผ่านการคัดกรองที่หยาบมาก เราจึงได้คนที่ไม่เก่งจริงมาเป็นครู การบริหารโรงเรียนในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ครูขาดองค์ความรู้ทางวิชาครู ขาดอุดมการณ์ของการเป็นครู ขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึกของความเป็นครูสูง

เมื่อกระทรวงศึกษาฯเริ่มโครงการคุรุทายาท โครงการช้างเผือก โครงการครูพันธุ์ใหม่ โครงการครู 5 ปี ความหวังของผู้บริหารโรงเรียนเริ่มกลับมาใหม่ ครูในโครงการเหล่านี้มีคุณภาพแตกต่างจากครูบางกลุ่มอย่างเห็นเป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบันครูในกลุ่มนี้ทำงานอย่างมีความก้าวหน้า เริ่มเป็นผู้บริหาร เริ่มเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นถึงระดับดอกเตอร์หลายคน เรายังพอหวังที่จะฝากผีฝากไข้ของประเทศชาติได้จากครูกลุ่มนี้ ดังนั้นการปฏิรูปครูต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนมาเป็นครู ได้คนเก่งมาเป็นครู ผ่านการฝึกอบรมวิชาครู จรรยาบรรณครู ผ่านการฝึกสอนมาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ดำรงโครงการอย่างนี้เอาไว้

ครูในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง จากที่ครูเป็นผู้แสดง เป็นแหล่งความรู้ ไปเป็นโค้ช นั่งดูอยู่ขอบสนาม เป็นผู้คอยปรบมือให้กำลังใจ เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำ เปลี่ยนเป็นให้เด็กเป็นผู้แสดง ให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ เกิดแรงบันดาลใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้เอง ครูได้เรียนรู้แบบร่วมมือไปพร้อมกับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา ผ่านสื่อนวัตกรรม สามารถสืบค้นหาความรู้จากแหล่งข้อมูลได้ด้วยตนเอง ให้ไปหาความชำนาญการได้เองผ่านการฝึกฝนทักษะใช้เครื่องมือที่ทันสมัยสืบเสาะหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ให้ได้ไปเผชิญปัญหา แก้ปัญหาด้วยตนเอง สร้างแนวทางแก้ปัญหาของตนเองเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล สามารถทำงานแบบเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมได้ นำเอาองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาไปสร้างเป็นโครงงาน ให้รู้จักตั้งคำถามที่ฉลาด ได้เรียนรู้ผ่านการทดลอง เรียนรู้ผ่านการค้นพบ ให้รู้จักสำรวจ ให้เรียนรู้ผ่านการแสดง (Drama as pedagogy)

การสอนแบบนี้เรียกว่า Teach 21

ประเทศสิงคโปร์กำหนดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาว่า Teach Less Learn More ซึ่งตรงกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของประเทศไทย แต่นัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของ “วลี” นี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการตีความตามตัวอักษร เป้าหมายของนโยบายนี้คือต้องการให้ครูปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการสอนใหม่เท่านั้น ไม่ได้ลดปริมาณของหลักสูตรหรือลดความเข้มของเนื้อหาที่จำเป็นในหลักสูตรออกไป หรือข้าม หรือตัดทิ้งบางส่วนของหลักสูตร แต่ให้เปลี่ยนกิจกรรมการสอนจากครูเป็นผู้แสดง เป็นนักเรียนเป็นผู้แสดงครูไม่ใช่ผู้ที่จะลงสนามการแข่งขัน นักเรียนคือผู้เล่นตัวจริง กรอบความคิดในการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์มีอยู่ 4 ระดับ คือ (1) วิสัยทัศน์เพื่อชาติ “โรงเรียนนักคิด ประเทศแห่งการเรียนรู้” (2) วิสัยทัศน์เพื่อการศึกษา “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” (3) วิสัยทัศน์เพื่อการปฏิบัติที่มีความยืดหยุ่น “ตึง หย่อน ตึง” และวิสัยทัศน์เพื่อความร่วมมือ ได้แก่ “ชุมชนการเรียนรู้เพื่อการอาชีพ” (PLC : Professional Learning Community) ยุทธศาสตร์การสอนที่เปลี่ยนแปลงคือ

(1) ใช้ยุทธศาสตร์การสอนแบบโต้ตอบที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น พัฒนาความเข้าใจ ใช้การสัมมนาแบบ “โสเครติส” โดยเน้นการตั้งคำถามให้คิดหาคำตอบ เน้นให้เรียนรู้จากปัญหา ให้เรียนรู้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ให้สร้างความคิดใหญ่

(2) มีการสอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน คือ มีจิตสำนึกต่อโลก มีความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ มีความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ มีความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงวิชาการ ได้เผชิญปัญหา ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ได้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

(3) ให้นักเรียนรู้จักใช้โอกาสอันมากมายที่จะถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่สถานการณ์ใหม่ได้

(4) ครูต้องใช้การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบระดับความเข้าใจเรื่องแนวคิดและทักษะของนักเรียนและปรับความเร็วและระดับการสอนให้สอดคล้อง

(5) ปรับโครงสร้างโรงเรียน ให้สามารถจำลองสังคมภายนอกเข้ามาอยู่ในห้องเรียนได้ สามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21

เมื่อเดือนเมษายน 2558 ผู้เขียนได้ไปดูโรงเรียนที่ไม่มีครู ในเยอรมนี ที่เมืองคอนสแตนท์ ชื่อโรงเรียน เกบห์ ฮาร์ด ชูเลอะ (Gehardschule) ในมลรัฐบาเดนเวอร์เทมแบรด มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนประมาณ 800 คน การจัดสอนแบบไม่มีครูสอนในระดับเกรด 5-10 บุคลากรในโรงเรียนประมาณ 80 คน เขาไม่เรียกบุคลากรในโรงเรียนว่าครู (Teacher) แต่เขาใช้คำว่า ผู้ร่วมเรียน ผู้ช่วยเรียน ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นโค้ช (Coach) ไม่ให้ทำหน้าที่สอน แต่ให้เป็นผู้ร่วมเรียน ร่วมวางแผนการเรียนรายคนกับผู้ปกครองของนักเรียน เด็กจะเป็นผู้เลือกระดับความยากง่าย เพื่อให้เด็กสามารถเลือกที่จะเรียนตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเขาได้ เป้าหมายของการจัดการเรียนแบบนี้คือ เพื่อสร้างแรงจูงใจ (Motivation) เพราะในโลกยุคนี้ เขาถือว่าแรงจูงใจเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำคัญกว่าความรู้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องทำงานหนัก ต้องร่วมกิจกรรมกับผู้เรียนเหมือนเป็นโค้ชนักกีฬา

ขณะนี้ทดลองทำมาในเยอรมนีได้ประมาณ 5 ปีแล้ว อยู่ในช่วงของการประเมิน อย่าลอกเขามาทั้งหมด

ผู้เรียนคือ ผู้เล่นตัวจริง ครูเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็นผู้เรียนร่วม หรือเป็นผู้ช่วยเรียน กิจกรรมการเรียน คือ ให้ทฤษฎี ฝึก ลงมือปฏิบัติ ให้นักเรียนเกิดทักษะเกิดความชำนาญการ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่ผู้เรียนสามารถใช้เพียงปลายนิ้วสัมผัสก็อาจทำให้ได้ข้อมูลแล้ว เป้าหมายของการเรียนคือให้ผู้เรียนมีความสามารถในการรู้จักนำเอาความรู้ทั้งหลายมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาชีวิต มาสร้างโครงงานมาสร้างสถานประกอบการได้เอง จึงจะถือเป็นความสำเร็จ กิจกรรมการสอนของครูผ่านโครงงาน ผ่านการฝึกประสบการณ์ ผ่านการสืบค้นทางออนไลน์ ผ่านการนำเสนอรายงาน โครงงาน ผ่านการเข้าค่าย เข้าชมรมกิจกรรม ฯลฯ จึงเป็นนวัตกรรมการสอนที่จะก้าวเข้ามาในยุคนี้

นักวิชาการชาวอเมริกันบอกว่า นิสัยสำคัญกว่าความรู้บุคลิกภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่จะต้องมีรูปแบบเป็นสากล ผ่านการอบรมบ่มนิสัยตามหลักคุณธรรมของศาสนา มีมารยาทสากล มีระเบียบ มีวินัย มีความรับผิดชอบ การรู้จักบาป บุญ คุณ โทษ รู้ถูก รู้ผิด มีความกตัญญู มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลก โอบอ้อมอารี

แรงบันดาลใจ (Inspiration) จะทำให้ผู้เรียนมีความหลงใหล อยากรู้ อยากเรียน อยากเห็น อยากเป็น อยากได้หิวกระหายอยู่ตลอดเวลา สามารถต่อยอดความรู้ได้เองตลอดชีวิต ในแผนการสอนของครูต้องระบุกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้ได้ ได้ฝึกซ้อมเพื่อหาทักษะหาความชำนาญ ได้เผชิญปัญหา ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง ในแต่ละชั่วโมง ในแต่ละวัน ในแต่ละปีที่เด็กมาโรงเรียนเด็กจะต้องได้ทักษะ ได้ความรู้ใหม่ ได้ความชำนาญการ กลับไป เพื่อไปฝึกฝนตนเองให้เขาสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างบุคคลที่ประสบผลสำเร็จ เช่น สตีฟ จ๊อบส์ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก หรือแจ็ค หม่า อาลีบาบาแห่งประเทศจีน

คนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดจากมีแรงบันดาลใจที่สามารถไปฝึกฝนเรียนรู้ต่อเนื่องได้เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image