Cloud Lovers : Virga แสนงาม : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

หยดน้ำที่ตกจากเมฆลงมาถึงพื้นเรียกว่า “ฝน” แต่หากหยดน้ำทุกหยดระเหยหมดไปก่อนระหว่างทาง นั่นคือ น้ำตกลงมาไม่ถึงพื้น จะมีชื่อวิชาการเรียกว่า “เวอร์ก้า (virga)” มาจากภาษาละติน แปลว่า แท่ง หรือกิ่งก้าน ส่วนบางครั้งก็เรียกว่า ฟอลล์สตรีค (fallstreak) หรือ ฟอลล์สไตรป์ (fall-stripe)

เวอร์ก้าอาจเป็นผลึกหิมะที่ตกลงมาจากเมฆ แต่ระเหิดหายหมดไปก่อนตกถึงพื้น หรืออาจเป็นหิมะที่ตกลงมา แล้วละลายกลายเป็นหยดน้ำ จากนั้นหยดน้ำระเหยหมดไปก็ได้เช่นกัน

หากลมใต้ฐานเมฆพัดไม่แรงนัก เวอร์ก้าจะเป็นเส้นตรงๆ พุ่งลงมาในแนวดิ่ง ขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง แต่หากมีลมพัด เวอร์ก้ามักจะโค้งอย่างสวยงาม ดังเช่นภาพที่ 1

Advertisement

ภาพที่ 1 : เวอร์ก้า
พฤษภาคม 2553 บ้านบ่อ จ.สมุทรสาคร
ภาพ: จินตนา นิลเพชร

ส่วนเมฆขนาดใหญ่อาจทำให้เวอร์ก้ามีลักษณะเป็นปื้นกว้างๆ ดูพร่ามัวไม่คมชัด ยกเว้นบางบริเวณที่อาจพอเห็นเส้นแนวดิ่งอยู่บ้าง ดังเช่นภาพที่ 2 เมฆในภาพนี้คือ ส่วนบนของเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟูรูปทั่ง ซึ่งตัวเมฆหลักได้สลายไปแล้ว จึงนับเป็นเมฆซีร์รัสอย่างหนาซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า เมฆรูปทั่งผู้กำพร้า (orphan anvil) เพราะว่าเมฆแม่ (ตัวเมฆหลัก) ได้จากไป ทิ้งลูกให้ค้างเติ่งอยู่บนฟ้าอย่างโดดเดี่ยว

ภาพที่ 2 : เวอร์ก้า
25 กันยายน 2556 18.07 น. สวนสาธารณะหนองตาหมู่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
ภาพ: เทิดภูมิ จินตนสถิตย์

เวอร์ก้ามักมีสีแดงโดดเด่นในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก บางครั้งอาจเห็นเส้นในแนวดิ่งได้บ้าง ดังเช่นภาพที่ 3 แต่บ่อยครั้งมักจะดูพร่าๆ เป็นแถบกว้าง แต่สีสันสะดุดตา ดังเช่นภาพที่ 4

ภาพที่ 3 : เวอร์ก้าสีแดงยามเช้า
7 มิถุนายน 2556 05.46 น. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี
ภาพ: บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 4 : เวอร์ก้าสีแดงยามเช้า
7 มิถุนายน 2556 06.01 น. กรุงเทพฯ
ภาพ: TaRay

ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์เรียกว่า virga “น้ำโปรยฐานเมฆ” ซึ่งใช้ได้ในกรณีส่วนใหญ่ แต่คำคำนี้ไม่ครอบคลุมกรณีที่เวอร์ก้าตกลงมาจากส่วนบนของเมฆฝนฟ้าคะนองที่ยื่นออกไปในแนวระดับที่เรียกว่า อิงคัส (incus) หรือรูปทั่ง ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 : เวอร์ก้าตกจากอิงคัส (รูปทั่ง)
1 พฤษภาคม 2557 15.49 น. เที่ยวบินอุบลราชธานี-ดอนเมือง
ภาพ: บัญชา ธนบุญสมบัติ

ในกรณีที่น้ำเย็นยิ่งยวดในเมฆกลายเป็นน้ำแข็งตกลงมา จะนิยมเรียกว่า ฟอลล์สตรีค (fallstreak) แม้ว่าจริงๆ แล้วก็คือ เวอร์ก้ารูปแบบหนึ่งนั่นเอง ดูภาพที่ 6 (อ่านเรื่อง Distrail & Fallstreak hole ได้ที่ www.matichon.co.th/news/825179)

ภาพที่ 6 : ฟอลล์สตรีค
1 มกราคม 2559 12.30 น. แยกเด่นชัย จ.แพร่
ภาพ : กิตติศักดิ์ นวลวิไล

เวอร์ก้าเกิดในเมฆสกุลต่างๆ ดังนี้: ซีร์โรคิวมูลัส แอลโตคิวมูลัส แอลโตสเตรตัส นิมโบสเตรตัส สเตรโตคิวมูลัส คิวมูลัส และคิวมูโลนิมบัส

ในกรณีของ เมฆสกุลซีร์รัส (Cirrus) ที่มีปลายด้านหนึ่งงอนๆ หรือเป็นกระจุก ส่วนที่เหลือเป็นเส้นยาวๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจนับเป็นเวอร์ก้าก็ได้ แต่ไม่นิยมเรียก เพราะว่า International Cloud Atlas กำหนดให้เป็นซีร์รัสชนิดหนึ่ง เรียกว่า ซีร์รัส อันไซนัส (Cirrus uncinus) มีชื่อเล่นว่า mares’ tails หรือ เมฆหางม้าตัวเมีย ดูภาพที่ 7 ครับ (อ่านเรื่อง Cirrus 5 ชนิด ได้ที่ https://www.matichon.co.th/news/733838)

ภาพที่ 7 : เมฆหางม้าตัวเมีย (ไม่เรียกว่าเวอร์ก้า)
26 เมษายน 2554 06.38 น. สนามบินน้ำ นนทบุรี
ภาพ: บัญชา ธนบุญสมบัติ

บนฟ้ามีความงามซ่อนอยู่หลายรูปแบบ และเวอร์ก้าคือหนึ่งในความงามที่คนรักเมฆไม่ควรพลาดครับ

………………….

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ลองค้นเน็ตด้วยคำว่า virga จะมีภาพสวยๆ ให้ชมมากมาย

……………………….

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image