ยึดทรัพย์เบี้ยวหนี้กยศ.แล้ว 5หมื่นคน มูลหนี้2.5พันล้านบาท จ่อฟ้องอีก1.9แสนราย เล็งนำข้อมูลผู้กู้ 4.5ล้านคนเข้าเครดิตบูโรปี”61

น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ…. ซึ่งผนวก กยศ. และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มาเป็นกองทุนเดียว คือกองทุนเพื่อการศึกษา และจะบริหารกองทุนโดย กองทุนเพื่อการศึกษา จากเดิม กยศ. โดย ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดูรายละเอียดในข้อกฎหมายต่างๆ ก่อนเสนอกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกรอบ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 และประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้ในปีการศึกษา 2562 สาเหตุที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันที เพราะอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านข้อมูลต่างๆ รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงรายละเอียดที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ด้วย โดยเฉพาะกรณีแบ่งผู้กู้ออกเป็น 4 กลุ่ม จากเดิมมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และกลุ่มผู้กู้ในสาขาขาดแคลนและเป็นความต้องการหลักของประเทศ

น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า โดยกลุ่มที่เพิ่มมา คือ กลุ่มผู้กู้ในสาขาขาดแคลนและเป็นความต้องการของประเทศในอนาคต อาทิ สาขาด้านอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้เรียน และกลุ่มผู้เรียนดี ซึ่ง 2 กลุ่มที่เพิ่มขึ้น อาจต้องปรับหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจาก 2 กลุ่มแรก อาทิ ไม่พิจารณาฐานรายได้ครอบครัวขั้นต่ำเพื่อจูงใจ และเปิดโอกาสให้เด็กเรียนดี ได้เรียนในสาขาที่ขาดแคลน และเป็นความต้องการของประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2561 กยศ.นำชื่อผู้กู้ กยศ.ทั้งผู้กู้รายเก่า และรายใหม่ ประมาณ 4.5 ล้านคนเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร หากใครชำระหนี้ตามปกติ ก็ไม่เสียเครดิต แต่ถ้าไม่ชำระ ก็จะถูกขึ้นบัญชี หรือติดแบล๊กลิสต์ โดยข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีผู้ชำระหนี้แล้วประมาณ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีผู้ชำระหนี้เพียง 4,300 ล้านบาท

นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ กยศ.กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2559 มีผู้กู้ที่อยู่ในกลุ่มจะถูกฟ้องประมาณ 1.9 แสนราย มูลหนี้รวม 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีตัวเลขจากผู้กู้ที่ครบสัญญาการกู้ยืม 15 ปีแล้วแต่

ไม่เคยติดต่อชำระหนี้เลย ถูกนำเข้ามารวมด้วยเป็นครั้งแรก จากเดิมที่จะเดินหน้าฟ้องเฉพาะผู้ที่ค้างชำระ 5 งวดขึ้นไป เลยทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีผู้กู้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้ว ประมาณ 8 แสนราย ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ไกล่เกลี่ย และศาลพิพากษาให้ชำระหนี้เป็นรายเดือน และกลุ่มที่ถูกฟ้องยึดทรัพย์บังคับคดี ซึ่งเป็นผู้กู้ในปี 2547-2549 ประมาณ 5 หมื่นราย มูลหนี้ 2.5 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด

Advertisement

“อยากให้กลุ่มที่รู้ตัวว่ากำลังจะถูกฟ้อง 1.9 แสนราย เร่งเข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ เพราะหากถูกฟ้อง หรือถึงขั้นถูกยึดทรัพย์บังคับคดีแล้ว จะมีผลถึงผู้ค้ำประกันด้วย เนื่องจากขั้นตอนการสืบทรัพย์ และบังคับคดี จะต้องลงไปดูทั้งหมดว่าผู้กู้ หรือผู้ค้ำมีทรัพย์สินใดที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้บ้าง ก็จะถูกนำไปขายทอดตลาดทันที” นายปรเมศวร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image