โพลนิด้าหนุน ‘เปิด-ปิด’ ภาคเรียนตามอาเซียน

Basic RGB

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน” สำรวจระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และนิสิตนักศึกษา รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,159 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา คือ การเปิด-ปิดภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันคือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเดือน สิงหาคม-ธันวาคม (จากเดิม เดือนมิถุนายน-ตุลาคม) ภาคเรียนที่ 2 เปิดเดือนมกราคม-พฤษภาคม (จากเดิม เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม) และการเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนระดับประถมและมัธยมยังคงเป็นแบบเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน ภาคเรียนที่ 2 เริ่มประมาณเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเปิด-ปิดภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทยในช่วงเกือบ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 22.69 ระบุว่า มีความเหมาะสมมาก ร้อยละ 26.06 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเหมาะสม ร้อยละ 23.81 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเหมาะสม ร้อยละ 13.03 ระบุว่า ไม่มีความเหมาะสมเลย ร้อยละ 10.61 ระบุว่า ไม่รู้สึกอะไรเลย และร้อยละ 0.69 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีทั้งข้อดีและข้อเสียขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่ระบุว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนตามสากลและอาเซียน ของสถาบันอุดมศึกษาไทย มีความเหมาะสมมากและค่อนข้างมีความเหมาะสม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.10 ระบุว่า มีความเป็นสากล รองลงมา ร้อยละ 30.80 ระบุว่า เด็ก ม.6 มีเวลามากขึ้นเพื่ออ่านหนังสือสอบแอดมิสชั่นส์ และเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย ร้อยละ 19.65 ระบุว่า การแลกเปลี่ยนคณาจารย์หรือนักศึกษาระหว่างประเทศสามารถทำได้ง่าย ร้อยละ 15.22 ระบุว่า นักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 สามารถใช้ช่วงเวลารอยต่อก่อนเปิดภาคเรียนในการหารายได้หรือช่วยผู้ปกครองทำงาน ร้อยละ 12.04 ระบุว่า เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา กีฬาและวัฒนธรรม ร้อยละ 7.79 ระบุว่า เหมาะกับนิสิต-นักศึกษาที่ต้องการจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ร้อยละ 3.72 ระบุว่า กิจกรรมรับน้องสามารถเสร็จสิ้นก่อนเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 1.06 ระบุว่า การเหลื่อมล้ำของเวลาที่เปิด-ปิดไม่ตรงกับโรงเรียนประถมและมัธยมทำให้ปัญหาการจราจรลดลง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ร้อยละ 0.53 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีเวลาว่างในระหว่างปิดภาคเรียนมากขึ้นและมีเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 3.89 ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image