กทม.ปิดป้ายไล่ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ขีดเส้น 30 เม.ย. ชาวบ้านถามให้ไปอยู่ไหน

ความคืบหน้ากรณีชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ร่วมกับนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรื้อย้ายชุมชนเพื่อปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี นั้น

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และ สำนักงานเขตพระนคร กทม.ได้นำป้ายประกาศแจ้งการรื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬไปปิดที่กำแพงป้อมเพื่อกดดันให้ชาวบ้านซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 58 หลังคาเรือน ออกจากพื้นที่ ขณะที่บรรยากาศภายในชุมชนค่อนข้างเงียบเหงา ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ย้ายออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด

201603281344142-20120206152514

สำหรับประกาศดังกล่าวระบุว่า “ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายการอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนคร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งป้อมมหากาฬถือเป็นพื้นที่หนี่งที่ต้องมีการอนุรักษ์ โดยที่ผ่านมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ประกอบกับพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ กทม.และกรมศิลปากร ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทม.สามารถเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ ซึ่งในการรื้อย้ายบ้านเรือนภายในชุมชนป้อมมหากาฬนั้น กทม.ได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดแล้ว ดังนั้นขณะนี้จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ กทม.จะขอความร่วมมือให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ โดยกำหนดวันให้รื้อย้ายได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 ทั้งนี้ กทม.จะเปิดบริการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยอื่นๆ ให้แก่ประชาชน โดยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดบริการแก่ประชาชนชุมชนป้อมมหากาฬ ในวันที่ 19 เมษายนนี้”

Advertisement

201603281344144-20120206152514

นายพีระพล เหมรัตน์ รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เปิดเผยว่า ชาวบ้านในชุมชนทราบเรื่องและติดตามข่าวสารมาโดยตลอด หากมีการรื้อย้ายตามประกาศนี้จริง ชาวชุมชนกว่า 300 คน กทม.จะให้ไปอยู่ที่ไหน

“ก่อนหน้านี้ กทม.เคยจ่ายเงินชดเชยให้ชาวชุมชนแล้ว เอาไปปล่อยทิ้งที่การเคหะฯ มีนบุรีและหนองจอก ก่อนที่จะมีระบบสาธารณูปโภคเข้าถึงด้วยซ้ำ รวมทั้งการเคหะฯ มีระยะทางที่ไกลจากชุมชนเดิมมาก อาชีพที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ตามไปที่การเคหะฯ ส่วนคำสั่งที่มาปิดประกาศนี้ ชาวชุมชุมไม่มีใครเตรียมตัวที่จะรื้อย้าย และไม่ขอคุยเรื่องกฎหมาย อยากให้คุยเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่า หากเจ้าหน้าที่เข้ามารื้อย้ายพื้นที่ป้อมมหากาฬจริง อาจเกิดศึกบางระจัน 2 ขึ้นอีกครั้งก็ได้” นายพีระพล กล่าวและว่า การที่ กทม.จะพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะนั้น ควรมีสิ่งมีชีวิตร่วมอยู่ด้วย ซึ่งชาวชุมชนพร้อมจะเป็นอาสาเฝ้าเวรยาม ดูแลรักษาสวนสาธารณะให้ ขณะเดียวกัน ทีมงานชุมชนป้อมมหากาฬอยู่ระหว่างทำหนังสือขอเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เพื่อขอเปิดเวทีเจรจาและยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอคืนเงินชดเชยทั้งหมดโดยจะผ่อนชำระเป็นงวด และขอแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันด้วยการเช่าพื้นที่ระยะยาว 2.ขอเป็นเวรยามดูแลพื้นที่ 3.ดูแลรักษาสวนสาธรณะแห่งนี้ 4.ให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ 5.เป็นชุมชนตัวอย่างที่ทำงานควบคู่กับหน่วยงานรัฐ

Advertisement

ด้านนายสมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพระนคร กล่าวว่า ประชาชนที่ต้องการจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังเขต เพื่อประสานกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม.ดำเนินการรื้อย้าย และว่า เรื่องเขตพระนครไม่สามารถตอบคำถาม หรืออธิบายรายละเอียดกับประชาชนได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image