ชวน ชี้ ไม่เคยเห็นคนซื้อเสียงมาแล้วไม่ทุจริต แนะไม่ต้องเกรงใจคนโกง

“ชวน” ชี้ ต้องไม่เกรงใจคนโกง ระบุธรรมาภิบาลอยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติว่ามีหรือไม่ บอกการล้มรธน. 2 ครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่รธน. แต่อยู่ที่พฤติกรรมของคน “จุรี” เสนอบรรจุเรื่องจริยธรรมาภิบาลไว้ในรธน.

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่โนงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดการเสวนา เรื่อง “จริยธรรมาภิบาล : วาทะกรรมหรือทำได้จริง” โดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ กล่าวว่า เป็นทั้ง 2 อย่าง คือเป็นได้ทั้งวาทะกรรม และทำได้จริง ธรรมาภิบาลเป็นนวัตรกรรม คือ มาจาก “จริยธรรม” และ “ธรรมาภิบาล” ซึ่งหลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบได้ ห้าหลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทั้ง 6 หลักนี้เป็นหลักธรรมาภิบาลที่ประกาศให้หน่วยงานของภาครัฐใช้ ตนขอเพิ่มหลักธรรมาภิบาลข้อที่ 7 คือ ต้องไม่เกรงใจ ในการที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ 7 ข้อนี้ยังมีปัญหา แล้ววันนี้เรายังมาเพิ่มหลักจริยธรรมาภิบาลเข้ามาอีก ในบรรดาคนในโลกนี้ ในอาเซียน ประเทศที่มีน้ำใจไม่มีชาติไหนเท่าคนไทย แต่เราขาดระเบียบวินัย เราจึงมีปัญหา การบังคับใช้กฎเกณฑ์กติกาไม่เข้มแข็ง ไม่เข้มงวด ตรงนี้จึงมาลบล้างสิ่งดีงามของเรา ทั้งนี้ ในฐานะผู้บริหารภาคปฏิบัติ ตนคิดว่า จริยธรรมาภิบาลอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับคนๆนั้น หน่วยงานนั้นว่าจะสามารถทำได้หรือไม่

นายชวน กล่าวอีกว่า ถ้าได้คนที่มีสำนึกรับผิดชอบมาทำงาน ปัญหาจะเกิดน้อย อย่างที่ ในหลวงท่านทรงตรัสว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่ต้องส่งเสริมให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแต่งตั้งหรือเลือกตั้งเราก็มักได้ทั้งคนดีและไม่ดีมาเสมอ แม้คิดว่าดีที่สุดแล้วก็ยังติดมา ถ้าได้คนดีเข้ามาทำงานก็ไม่ซื้อเสียง เป็นข้าราชการก็ไม่วิ่งเต้น พูดถึงรัฐธรรมนูญที่ถูกล้มไป 2 ครั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่พฤติกรรมของคน ตนไม่เห็นนักการเมืองคนไหนที่ซื้อเสียงเข้ามาแล้วไม่โกง ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่รับผิดชอบ ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง แม้แต่สื่อมวลชนยังถูกซื้อ และที่น่ากลัวที่สุด คือการที่องค์กรด้านกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง ตนขอฝากว่า ทำอย่างไรเราจะให้ความจริง และความรู้แก่ประชาชน เพราะหากเขารู้ความจริง การทำให้ขาวเป็นดำ หรือดำเป็นขาวนั้นคงทำได้ยาก สุดท้าย แท้จริงแล้วทั้งหมดอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ที่เราปราบการทุจริตยาก เพราะผู้จ่ายเงิน และผู้รับเงินอยู่ด้วยกัน ในสภามีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และที่เรายังแก้ปัญหาการทุจริตไม่ได้ เพราะในภาคปฏิบัติยังมีปัญหานั่นเอง

ด้านนางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ. กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์ที่มีมาแต่อดีตปลูกฝังลึกอยู่ในแนวปฏิบัติของคนไทย ตนรู้สึกว่าหลายปีที่ผ่านมาที่ได้ดูเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น จะว่ากฎหมายของเราไม่ดีก็ไม่ใช่ เรามีหลายองค์กรและมหลายอย่างที่น่าจะทำให้สังคมเข้มแข็ง ก็มาวิเคราะห์กันว่า กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับเราจับทุกคนไม่ได้ทุกกรณี คนเก่ง คนที่มีอำนาจเงินหาช่องในการหลบหลีกได้ คุณธรรมจริยธรรมในตัวบุคคลล้าหลัง ติดอยู่กับแบบเก่าโกงบ้างไม่เป็นไร ใครๆก็ทำ แม้จะสร้างองค์กรต่างๆขึ้นมาจับทุจริตแต่ถ้าระบบในตัวเรายังล้าหลังก็ไม่จับกัน จากการวิเคราะห์เราต้องสร้าง 5 ข้อ คือ ซื่อสัตย์ จิตสาธารณะ ความเป็นธรรม ความรับผิดชอบ และพอเพียง โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้โดยตัวเขาเอง คิดเอง และตระหนักรับรู้โดยตัวเขาเอง จึงเป็นที่มาของโครงการ “โตไปไม่โกง”

Advertisement

นางจุรี กล่าวว่า น่าจะนำเรื่องจริยธรรมาภิบาลนี้มาใส่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าใครทำผิดร้ายแรงจะต้องถูกถอดถอนโดยวุฒิสภา นอกจากนี้ ต้องเน้นให้องค์กรอิสระทำงานร่วมกันบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image