‘แบงก์ชาติ’เปิดทาง ใช้’เงินสำรอง’เล่นหุ้น!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ธปท.) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ขั้นตอนต่อไปส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ธปท. เพื่อขยายขอบเขตการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้ ธปท.สามารถลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ต่างประเทศที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท.กำหนด โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9(2) และมาตรา 36 ของพระราชบัญญัติ ธปท.ตาม พ.ร.บ.ธปท.เดิมระบุให้ ธปท.มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. รวมถึงนำสินทรัพย์ไปลงทุนหาประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท.กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ

การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ สามารถลงทุนทองคำ เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกออกให้ในการให้กู้ยืมเงินร่วมแก่รัฐบาลสมาชิก หรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว หลักทรัพย์ที่ออกโดยองค์การหรือนิติบุคคลต่างประเทศอื่น ตามที่คณะกรรมการ ธปท.กำหนด รวมทั้งสิทธิซื้อส่วนสำรองในกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ สิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สินทรัพย์อื่นใดที่ ธปท.นำส่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสินทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท.กำหนด

ทั้งนี้ ธปท.ต้องรายงานผลการบริหารจัดการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ธปท.เป็นรายไตรมาสด้วย

Advertisement

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.จะทำให้การบริหารความเสี่ยงของ ธปท.มีความครอบคลุมรอบด้าน สามารถปิดความเสี่ยงจากความท้าทายและความผันผวนใหม่ๆ ของเศรษฐกิจโลกได้ เช่นเดียวกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่มีการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในหุ้น อาทิ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เป็นต้น จากเดิมที่สามารถนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้เฉพาะทองคำ พันธบัตร (บอนด์) และสกุลเงินต่างประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพคล่องเป็นสำคัญ เพราะเงินสำรองฯต้องสามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลาในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน

ทั้งนี้ การนำเงินสำรองฯไปลงทุนในหุ้นสัดส่วนการลงทุนจะมีสัดส่วนน้อยเพียง 3-4% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการนำเงินสำรองฯไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยปัจจุบัน เงินสำรองฯในส่วนของกิจการธนาคารมีอยู่ 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินสำรองฯทั้งหมดปัจจุบันมีอยู่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

“ต้องรอขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติพิจารณา เพื่อตราออกมาเป็นกฎหมาย และยังต้องผ่านคณะกรรมการ ธปท. เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ รูปแบบ และการลงทุนในหุ้นอีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะลงทุนได้ ส่วนจะลงทุนหุ้นกลุ่มใดประเทศใดอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ การแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ธปท.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินตรา และการลงทุนในหุ้นของ ธปท.ไม่ได้ต้องการที่จะไปตั้งกองทุนความมั่งคั่ง หรือต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อหวังผลตอบแทน แต่เป็นการทำเพื่อบริหารความเสี่ยง”

หากพิจารณาดูแล้ว สิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท.พยายามอธิบายคือการแก้ไข เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.ให้สามารถนำเงินสำรองฯไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เท่านั้น ไม่ใช่การแก้ พ.ร.บ.เงินตราเพื่อให้ ธปท.นำเงินสำรองไปลงทุนอย่างอื่นได้ อย่างที่เคยมีความพยายามจะแก้ พ.ร.บ.เงินตราเพื่อให้นำไปจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และนำทุนสำรองฯไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เหมือนกองทุนของเอกชน ตามอย่างหลายๆ ประเทศ

เริ่มต้นแนวคิดตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และอีกหลายรัฐบาล ทั้งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ชัดเจนคือสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พยายามจะมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.เงินตราที่เพิ่มอำนาจให้ ธปท.บริหารจัดการทรัพย์สิน ทั้งบัญชีผลประโยชน์ บัญชีทุนสำรองเงินตรา และบัญชีทุนสำรองพิเศษ ให้ ครม.พิจารณาเพื่อให้สามารถนำเงินสำรองฯไปจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่ได้รับการคัดค้านจากลูกศิษย์ลูกหาของหลวงตามหาบัว และฟาก ธปท.เองก็ไม่เห็นด้วย จึงมีอันต้องหลุดแผนนี้ไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

ด้านความคิดเห็นจาก นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบ ธปท. ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมให้ ธปท.สามารถเข้าไปลงทุนหุ้นของนิติบุคคลในต่างประเทศได้ เป็นการเพิ่มช่องทางในการลงทุน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนจากตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต้องมีความระมัดระวังภายใต้ความผันผวนของตลาดการเงินโลก การลงทุนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธปท. และมีนโยบายการลงทุน การกำกับควบคุม การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสูง

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะในส่วนของ พ.ร.บ.ธปท.ที่เป็นในส่วนกิจการธนาคารเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เงินตราแต่อย่างใด และเป็นการขยายขอบเขตการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและตลาดตราสารหนี้ สกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้นและสูงขึ้น และการขยายการลงทุนไปสู่ตราสารทุน จึงเป็นช่องทางการบริหารความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลงทุนควรต้องทยอยปรับสัดส่วนไม่ควรเกิน 5% ของทุนสำรองของกิจการธนาคาร โดยทุนสำรองเฉพาะในส่วนกิจการธนาคารที่มีอยู่ปัจจุบัน 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดมีอยู่ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องพิจารณาบริหารการลงทุนอย่างระมัดระวังภายใต้การบริหารความเสี่ยง และการบริหารสภาพคล่องระหว่างประเทศ

ในอนาคต ธปท.อาจมีการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา หากทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากเกินความจำเป็น ระบบการบริหารของ ธปท. ระบบการเมือง ระบบการเงิน และระบบต่างๆ ของประเทศมีความพร้อม และอาจนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งได้ในอนาคต ซึ่งก็มีหลายประเทศทำอยู่ แต่กรณีของไทยต้องให้มีความพร้อม ต้องมีการศึกษาวิจัยให้รอบคอบก่อน สำหรับเวลานี้ หากจะมีการตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งนำเงินสำรองไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ ในต่างประเทศ ตนไม่เห็นด้วย เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งของไทยเป็นเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามา และส่วนหนึ่งมีภาระผูกพัน ไหลออกเมื่อไหร่ก็ได้ ฉะนั้นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสามารถลดลงได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นทุนสำรองส่วนที่อยู่ในบัญชีแบงก์ชาติเท่านั้น ไม่ใช่ทุนสำรองที่หนุนการออกธนบัตร เป็นการลงทุนปกติเท่านั้น ไม่ใช่การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรหากมีระบบการบริหารจัดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และโปร่งใสในกระบวนการการลงทุน

แม้ว่าจะมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งคือความโปร่งใสของการบริหารจัดการ ซึ่งคงต้องใช้เวลาแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นกันไปก่อน ทั้งนี้หากเกิดได้จริง ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นโดยรวมของสังคมด้วย

เพราะยุคสมัยนี้ไม่ใช่ยุคที่จะมาปิดหูปิดตากันได้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image