คนไทยอ่านหนังสือ66นาที/วัน โดย ปราปต์ บุนปาน

“ทีเคพาร์ค อุทยานการเรียนรู้” เพิ่งเผยแพร่สถิติการอ่านของคนไทย พ.ศ.2558 ออกมา

ทีเคพาร์คสำรวจการอ่านของคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป พบว่า 48.4 ล้านคน หรือ 77.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกลุ่มนี้ อ่านหนังสือ

โดยเฉลี่ย คนไทย 48.4 ล้านคน ใช้เวลาในการอ่านเรื่องราวต่างๆ 66 นาที/วัน มากกว่าสถิติ 37 นาที/วัน ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2556

นอกจากนี้ สถิติซึ่งจัดทำโดยทีเคพาร์ค ยังนำเสนอถึงปรากฏการณ์ของ “ความแตกต่าง” “ไม่สมดุล” หรือ “ไม่เท่าเทียม” หลายอย่าง

Advertisement

จากผลการสำรวจ “วัยเด็ก” และ “วัยรุ่น” เป็นกลุ่มคนที่อ่านหนังสือมากที่สุด

โดยร้อยละ 90.7 ของประชากรวัยเด็ก นั้นอ่านหนังสือ และใช้เวลากับการอ่าน 71 นาที/วัน

ขณะที่ร้อยละ 89.6 ของประชากรวัยรุ่น ก็อ่านหนังสือ แถมยังใช้เวลากับการอ่านสูงถึง 94 นาที/วัน

จนถือเป็นกลุ่มคนซึ่งทุ่มเทเวลาให้แก่การอ่านสูงที่สุด

สถิติตรงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะประชากร “วัยทำงาน” ย่อมมีเวลาว่างไม่เท่า “วัยเด็ก” และ “วัยรุ่น”

เช่นเดียวกับประชากร “วัยสูงอายุ” ที่ย่อมมีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือสายตา จนไม่อาจเพ่งมองตัวหนังสือบนกระดาษและจอโทรศัพท์/คอมพิวเตอร์ได้นานๆ

อีกข้อที่น่าคิด ได้แก่ ข้อมูลที่ระบุว่า 82.9 เปอร์เซ็นต์ของคนในเขตเทศบาลนั้นอ่านหนังสือ ส่วนคนนอกเขตเทศบาลมีอัตราส่วนลดลงเหลือ 73.4 เปอร์เซ็นต์

ความแตกต่างทำนองนี้ถูกขยายให้เห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อผลการสำรวจชี้ว่า หากพิจารณาแยกเป็นภูมิภาคแล้ว คนกรุงเทพฯอ่านหนังสือมากที่สุด โดยมีร้อยละ 93.5 ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งอ่านหนังสือ และใช้เวลากับการอ่าน 95 นาที/วัน

ส่วนสองภูมิภาคที่มีคนอ่านหนังสือน้อยที่สุด ก็คือ ภาคเหนือ ที่ประชากรร้อยละ 74.3 อ่านหนังสือ และใช้เวลากับการอ่าน 60 นาที/วัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชากรร้อยละ 73 อ่านหนังสือ และใช้เวลากับการอ่าน 57 นาที/วัน

ข้อแตกต่างประการนี้ อาจเกิดจากสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้หรือเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร อันจะนำไปสู่สาระความรู้

อีกข้อที่ชวนคิด คือ เมื่อสอบถามว่าปัจจุบัน คนไทยอ่านอะไร? พบว่า แม้สิ่งที่ผู้คนอ่านกันมากที่สุดยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ แต่ตัวเลขการอ่านเนื้อหาข้อความในโลกออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์, อีเมล์ ก็ไล่จี้มาเป็นอันดับสอง

หรือกล่าวได้ว่า ขณะที่การอ่านหนังสือผ่านรูปเล่มเอกสาร/สื่อกระดาษ เริ่มมีอัตราส่วนลดลงทีละน้อย การอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลับมีสถิติที่จับต้องได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ข้อสุดท้าย เมื่อทีเคพาร์คสอบถามผู้ตอบแบบสำรวจว่า “ทำไมไม่อ่าน?” พบว่า ปัจจัยหลักของการไม่อ่านหนังสือ กลับไม่ใช่ “การอ่านหนังสือไม่ออก” ซึ่งถูกอ้างเป็นเหตุผลเพียง 20.6 เปอร์เซ็นต์

ทว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยไม่อ่านหนังสือ คือ เหตุผลที่ระบุว่า “ชอบดูโทรทัศน์” “ไม่มีเวลาอ่าน” และ “ไม่ชอบ/ไม่สนใจ” ต่างหาก

ดังนั้น ปัญหาคนไทยไม่อ่านหนังสือ จึงอาจเกิดจากการขาดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากกว่าประเด็นพื้นฐานเรื่องการอ่านหนังสือออก/ไม่ออก

เมื่อการเข้าถึงความรู้ของคนในประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำ การหวังจะให้คนไทยอ่านมากขึ้น จึงอาจหมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการแสวงหาความรู้ และเปิดกว้างต่อการเข้าถึงหนังสือหนังหาตลอดจนเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเสมอภาค

สถานศึกษาต่างๆ ย่อมมีบทบาทสำคัญ ณ จุดนี้

ยิ่งเมื่อพบว่า “วัยรุ่น” คือ กลุ่มประชากรซึ่งใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด

ผู้เกี่ยวข้องก็น่าจะประเมินได้ว่า ควรให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาระดับไหนมากที่สุด? และควรให้สิทธิประชาชนในการได้รับการศึกษาถึงระดับใดมากที่สุด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image