‘ธีรยุทธ บุญมี’ ชี้ สังคมไทยค่านิยมเป็น ‘เบี้ยล่าง’ เผยยังให้โอกาส ‘คสช.’ ปฏิรูปประเทศ

นายธีรยุทธ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวตอนหนึ่งปาฐกถา เรื่อง “กฎหมาย คนจน ความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนา” ว่า ที่ผ่านมา คนจนคือเบี้ยทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง อาจเป็นคำที่หนักสักหน่อย ซึ่งภาพรวมประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชาวบ้านไทยเป็นเบี้ยในกระดานพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ที่ถูกเสียสละเพื่อให้หมากตัวอื่นๆ อย่าง เม็ด ม้า ขุน ดีขึ้น ถ้ามองช่วงจอมพลสฤษดิ์ ช่วงแรกเรามุ่งพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมขั้นต้น ชาวบ้านเป็นผู้ขยายที่ทำกิน หักร้างถางพงเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว บทบาทหลักของเบี้ยเศรษฐกิจคือ การเป็นแรงงานให้กับโรงงานต่างๆ สมัยนั้นมีศัพท์เรียก แรงงานทาส โรงงานนรก เกิดขึ้น

“ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเต็มที่ ช่องว่างเกิดขึ้นมากเพราะการเกิดเสรีในทุกด้าน เปิดโอกาสให้ทุนต่างประเทศเข้ามา เเต่การพัฒนาไม่ได้สนองสาธารณชนเท่าที่ควร กลับสนองคนที่มีสถานะเป็นอภิสิทธิ์อยู่แล้วค่อนข้างมาก ทุนเหล่านี้จึงเป็นผู้เสวยประโยชน์ ถามว่าคนทั่วไปรู้สึกยังไง? คนชั้นกลาง คนชั้นสูงจะสบายใจ เพราะยังบริโภคอาหารในราคาไม่แพง มีแรงงานใช้ในบ้าน แต่มันส่งผลกระทบชาวบ้านและแรงงานทั่วไป ทำให้มีสภาพชีวิตที่เสื่อมโทรม”

นายธีรยุทธ กล่าวว่า เหตุผลจริงๆของการประท้วง ไม่ได้อยู่ที่เกลียดหรือไม่เกลียดทักษิณ แต่เป็นเพราะทนไม่ได้กับความอยุติธรรม การโกงกินแบบตบหน้าชาวบ้านไปด้วย เริ่มมีการประท้วงมากขึ้น ปัญหาของเราที่มีการประท้วงมาเกือบ 30 ปีตั้งแต่พฤษภาทมิฬ เป็นเพราะว่ากลไกต่างๆที่จะบังคับใช้กฎหมายไม่ทำงาน เอื้อต่อนักการเมืองผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ สภาพการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ การที่มีคนออกมาชุมนุมก่อนรัฐประหาร คสช. เป็นบทสะท้อนใหญ่ ดรรชนีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะเป็นตัวบ่งชี้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปฏิรูป

“สังคมเรามีค่านิยมเป็นเบี้ยล่าง เช่น สำนวนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า หรือคติที่ว่า “ข้าคับแค้นแสนประดาษในชาตินี้ ไม่มีที่พึ่งพาอนาโถ ทั้งสิ้นทุนสูญขาดญาติโย เที่ยวเซโซบัดสีนี่กระไร” เป็นคติชาวบ้านแต่โบราณ มีทุกข์เพราะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีใครจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งการเป็นเบี้ยล่างทำให้ชาวบ้านต้องหาผู้อุปถัมภ์เพื่อการอยู่รอดทุกยุคทุกสมัย ชาวบ้านจึงเป็นของเล่นเชิงนโยบายของรัฐไทย ถูกมองว่าเป็นที่มาของการซื้อเสียง ต่อมามองชาวบ้านเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตพอเพียง ประเพณีวัฒนธรรมที่มีค่า คือ เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามกระแสความคิดของชนชั้นนำ ฉะนั้น การแก้ปัญหาคนจน จึงไม่ใช่การถกเถียงประเด็นกฎหมาย แต่ต้องดูที่กลไกการปฏิรูป กลไกการเสริมอำนาจจริงๆให้ประชาชนด้วย” นายธีรยุทธ กล่าว

Advertisement

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่มีการเหลื่อมล้ำ 1.ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแต่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่นคนจนนอนคุก 2. เกี่ยวพันกับกระบวนทัศน์หรือค่านิยมที่มองชาวบ้านเป็นปัญหา ความไร้ระเบียบ ไม่สะอาดอุจาดตา ฉะนั้น ปากคลองตลาด หรือหลายแห่ง ต้องการอย่างเดียวคือเอาชุมชน เอาชาวบ้านออกไปเพื่อให้ดูสะอาดตา เพราะว่าคนที่มีฐานะสูงคืออยู่กับสิ่งที่เป็นระเบียบ ชอบพื้นที่กว้างขวาง แต่ถ้าวิจัยดีๆแล้ว จะพบว่านักท่องเที่ยวอยากเห็นความแตกต่างของวิถีชีวิตมากกว่าเห็นความสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ

“การแก้ปัญหาคนจนไม่ได้ถ้าไม่ปฏิรูปการเมืองนั้น 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มี คสช. วันนี้ประเมินเรื่องการปฏิรูปประเทศ มองว่า คสช. ยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศ และมีแนวโน้มจะปฏิรูปไม่สำเร็จ แต่ก็ยังให้โอกาส ให้ความหวังว่ายังไม่สายเกินไปในเวลาที่เหลืออยู่ที่จะเริ่มปฏิรูป แต่ก็ยังให้โอกาส ให้ความหวังว่ายังไม่สายเกินไปในเวลาที่เหลืออยู่ที่จะเริ่มปฏิรูป ขอให้เรามองการปฏิรูปอย่างค่อนข้างเป็นจริง คือ

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการปฏิรูปอย่างใช้สามัญสำนึกว่าการปฏิรูปมีหลากหลายด้าน ทั้งนี้ ก่อนปี พ.ศ. 2540 มีการปฏิรูปของสภาการวิจัยแห่งชาติ (สกว) , งานของนายอานันท์ ปันยารชุน 1 ชุด , งานของ นพ.ประเวศ วะสี สมัชชาปฏิรูปอีกชุด ฉะนั้น ที่เสนอกันมามีหลายด้านมาก จะทำจริง ๆ ต้องใช้เวลา ใช้บุคลากรเยอะ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าต้องใช้เวลา 10-20 ปี มองว่าถูกต้อง มองว่าการปฏิรูป ต้องมี 4 องค์ประกอบ คือ 1. มีความจำเป็นและความรู้ 2. บุคลากร 3. ความมุ่งมั่นและเจตจำนงค์ และ 4. ศาสตร์และศิลป์ของผู้นำในการปฏิรูป

Advertisement

2.ข้อมูลเรื่องการปฏิรูปมากพอสมควร เหตุผลที่ควรทำหรือไม่นั้น ชัดเจน เพราะคนออกมาสู้กันเป็นแสนเป็นล้าน ชุมนุมอยู่เกือบปี นั่นหมายถึงเขาอยากปฏิรูป และคงไม่หยุด คิดว่าโผล่ขึ้นมาอีกหากไม่มีการปฏิรูป ยังไงก็ต้องมีคนยอมอุทิศตัว ลงมือลงแรงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรื่องบุคลากรก็ไม่ห่วงมีเกือบทั่วประเทศที่จะทำ ถ้าคนเหล่านี้ไม่เต็มใจทำก็ถือเป็นชะตากรรมของประเทศ

3. ถ้าเป็นผู้นำพรรคการเมืองจากระบบการเมือง คิดว่าเขาไม่พร้อมหรือพร้อมน้อยมาก ไม่เต็มใจจะทำเพราะขัดผลประโยชน์ของตัวเอง สิ่งที่จะทำคือตั้งกรรมการเพื่อศึกษาการปฏิรูป การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 คนที่มารับช่วงคือทหาร แต่เราสังเกตว่าผู้นำทางทหาร แม้จะมีความพร้อมเรื่องอำนาจแต่ก็กระอักกระอ่วนที่จะนำพาการปฏิรูป เพราะ 1.เขาไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอะไร 2.ไม่ได้เชื่อมโยงบุคลากรในวงการต่างๆที่จะมาปฏิรูปได้ การเลือกใช้คนมาใช้เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลซึ่งทหารไม่กว้างพอ 3 การปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่เพราะ ใช้เวลานาน ต่างชาติกดดัน และ 4. ทหารก็ถูกกระทบจากการปฏิรูปเช่นกัน แม้ไม่เข้มข้นเท่าการปฏิรูปตำรวจ

4. ศาสตร์และศิลป์ของผู้นำในการปฏิรูป เชื่อว่านักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วไปบอกได้ว่า ประเทศไทยควรปฏิรูปอะไร แต่บอกไม่ได้ว่าปฏิรูปอย่างไร ศึกษาจากประวัติศาสตร์ทั่วโลก พบว่าการปฏิรูปของทุกประเทศจะสำเร็จได้ ไม่ได้เกิดจากคนธรรมดาคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีบุคคลพิเศษบางส่วนที่มีความสามารถ ฐานะพิเศษ เป็นรัฐบุรุษที่เป็นผู้นำในการปฏิรูป” นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอ การปฏิรูปบางประเด็นที่เกี่ยวกับคนจน ที่ผ่านมาทั้ง รสช. คมช. คสช. ทำเหมือนกันหมดคือ ให้นักกฎหมายมาคิดกระบวนการปฏิรูป ซึ่งมีคนร่างกฎหมายซ้ำกันหลายคน ท่านเค้นความคิดมาตลอด แล้วคิดว่าความคิดของท่านวันนี้จะกระฉูดขึ้นมา แก้ไขปัญหาได้หรือ? ไม่มีนักวิชาการคนไหนเชื่อ แต่ทหารใช้วิธีนี้เพราะมันสะดวก ปฏิวัติเสร็จก็หานักกฎหมายมาร่าง แล้วเสนอการแก้ปัญหา แล้วก็คิดว่าจะทำกันอย่างไร ผมไม่เชื่อว่านี่เป็นหนทางแก้ไข แต่เป็นการก้าวเดินผิดตั้งแต่ต้น เราเสนอประเด็นได้ แต่คนทำต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการใช้คน ใช้อำนาจ ใช้ทรัพยากร เลือกประเด็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเกิดการปฏิรูปประเทศไทยจะโชคดีมาก แต่ถ้าไม่เกิดประเทศไทยจะโชคร้ายมาก

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับ 4 ข้อที่คิดว่ารัฐบาล คสช. ทำได้ 1. ปัญหาภัยพิบัติของชาติเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้ง 2. ปัญหาทรัพยากรของประเทศ 3.ระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และ 4. ปัญหาความมั่นคงของประเทศในสถานการณ์โลก ที่ซับซ้อนและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ขอทำนายว่านี่จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศเราในอนาคตข้างหน้า ภายใน ๑๐ ปีน่าจะมีปัญหาที่ร้ายแรง เช่น ภัยก่อการร้าย ภาคใต้ ความมั่นคงทั่วไป นโยบายต่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image