สกู๊ป น.1 : สำรวจ”อยุธยา” ป้อมเพชร-วัดสุวรรณฯ “บ้านเดิม”รัชกาลที่ 1

เจดีย์บรรจุพระอัฐิพระชนกในรัชกาลที่ 1 ที่วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำรวจนิวาสสถานเดิมบรรพชน ร.1 ที่อยุธยา พบไม่ได้รับการดูแลรักษา ชาวอยุธยาและนักวิชาการเรียกร้องให้มีป้ายบอกประวัติความเป็นมาย่อๆ ของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมทั่วอยุธยา เพื่อกระตุ้นการศึกษาประวัติศาสตร์-เสริมท่องเที่ยวไทย

เนื่องในวันจักรี 6 เมษายน มติชนออกสำรวจสถานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับปฐมบรมราชจักรีวงศ์ที่มีบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์อภินิหารบรรพบุรุษ กับพระราชหัตถเลขาของ ร.4 พระราชทานเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ มีบอกโดยสรุปว่า พระปฐมบรมชนกนาถสมรสกับธิดาคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุด โดยมีเคหสถานอยู่ตรงมุมตะวันออกเฉียงใต้ ภายในกำแพงเมืองอยุธยา

“ตั้งแต่วัดทอง หรือวัดสุวรรณ ยาวไปป้อมเพชร จนถึงคลองในไก่ ช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นเคหสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 กับบรรพชนของท่าน ควรมีข้อความทำป้ายง่ายๆ บอกไว้ พร้อมแผนผังคร่าวๆ”

นายพะเยาว์ เข็มนาค (อายุ 69 ปี ชาวอยุธยาโดยกำเนิด อดีตหัวหน้าฝ่ายโบราณสถานสำนักศิลปากรที่ 3 อยุธยา กรมศิลปากร) นำทางมติชนสำรวจนิวาสสถานเดิมบรรพชน ร.1 ดังกล่าว ปัจจุบันได้แก่บริเวณกว้างตั้งแต่วัดสุวรรณดารารามหรือวัดทอง กับป้อมเพชร จนถึงคลองในไก่ หรือคลองมะขามเรียง ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนราษฎร และสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร ที่สมัยอยุธยาเป็นตลาดใหญ่ย่านคนจีน คู่กับตลาดน้อยมีในเอกสารของหอหลวงแผ่นดินขุนหลวงหาวัด พระเจ้าอุทุมพร

Advertisement
นายพะเยาว์ เข็มนาค ชาวอยุุธยา อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ยืนชี้ย่านการค้าชาวจีนยุคอยุธยาบริเวณที่ควรเป็นนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ใกล้คลองในไก่ไปทางวัดสุวรรณดาราราม และป้อมเพชร
นายพะเยาว์ เข็มนาค ชาวอยุุธยา อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ยืนชี้ย่านการค้าชาวจีนยุคอยุธยาบริเวณที่ควรเป็นนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ใกล้คลองในไก่ไปทางวัดสุวรรณดาราราม และป้อมเพชร

 

นายสมบัติ พลายน้อย หรือนักเขียนความรู้ประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับนับถือกว้างขวาง นามปากกา ส.พลายน้อย กล่าวว่า ตนเป็นคนอยุธยา สมัยเป็นเด็กนักเรียนต้องเดินผ่านโบราณสถานต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปในตัว ส่วนประเด็นเรื่องบ้านเกิดของรัชกาลที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณป้อมเพชรและวัดสุวรรณดารารามนั้น เชื่อว่าแม้แต่คนอยุธยาเองก็ไม่ค่อยมีคนทราบมากนัก

นอกจากผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ซึ่งมีไม่กี่คน ดังนั้น ควรติดป้ายอธิบายข้อมูลดังกล่าวให้คนรับทราบ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มาก ไม่เพียงเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่สิ่งสำคัญคือคนท้องถิ่นจะได้รับรู้และตื่นตัวว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จะได้เกิดความภาคภูมิใจและดูแลรักษาต่อไป

“คนอยุธยาส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ นอกจากคนที่สนใจประวัติศาสตร์ ซึ่งมีไม่กี่คน แม้แต่คนที่บ้านอยู่ใกล้ๆ ยังไม่รู้เรื่อง ดังนั้น ควรทำป้ายอธิบายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบริเวณป้อมเพชรและย่านวัดสุวรรณดาราราม ว่าเป็นบ้านเกิดรัชกาลที่ 1 จะได้เกิดความคึกคักว่าย่านนี้พระเจ้าแผ่นดินเคยประทับอยู่ ชาวบ้านจะได้ดีใจ นักเรียนก็เกิดความสนใจ คนจะไปเที่ยวหรือไม่ไปก็ไม่เป็นไร ปักป้ายเอาไว้ให้เป็นที่รู้กันว่าถ้าจะไปดูก็ยังมีถ้าไม่มีการทำให้ชาวบ้านรู้ความสำคัญ เขาก็ไม่ภูมิใจ ไม่ดูแลรักษา”

นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากย่านบ้านเกิดรัชกาลที่ 1 แล้ว ยังควรทำป้ายอธิบายข้อมูลชื่อบ้านนามเมืองในจุดอื่นๆ ด้วย เช่น ชื่อสถานที่ซึ่งตั้งตามชื่อคน จะได้ทราบว่าเป็นใคร เพราะเรื่องเหล่านี้เมื่อไม่มีผู้สืบต่อ ก็จะค่อยๆ หายไปจากความทรงจำ

ป้อมเพชร ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ศูนย์กลางการค้านานาชาติยุคอยุธยา คาดว่าพื้นที่ในย่านดังกล่าว คือนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี
ป้อมเพชร ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ศูนย์กลางการค้านานาชาติยุคอยุธยา คาดว่าพื้นที่ในย่านดังกล่าว คือนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี

 

นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นานาชาติ) จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องราวของการเป็นย่านนิวาสสถานเดิมของบิดาในรัชกาลที่ 1 กลับไม่ได้ถูกเน้นเท่าที่ควร ซึ่งมองว่าต้องร่วมมือกันในการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

“ประวัติวัดเป็นเรื่องเปิดเผย เป็นที่รู้กันในแง่ความสวยงามและสถานภาพว่าเป็นวัดหลวงสำคัญของอยุธยา รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระนเรศวรก็แพร่หลายมาก แต่เรื่องการเป็นนิวาสสถานเดิมของพระราชบิดาในรัชกาลที่ 1 ไม่ได้ถูกเน้นหรือพูดถึงเท่าที่ควร การดำเนินการต้องเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีทั้งกรมศิลปากรซึ่งรับผิดชอบโดยตรง อบจ.และ อบต.ก็ควรให้ความสำคัญกับคุณค่าและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมือง องค์กรซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของจังหวัด หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำบทบาทตรงนี้หรือเปล่า จริงๆ แล้วต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และศาสนา ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นร่วมกันรับผิดชอบ” นายสุเนตรกล่าว

นายวรรณพงษ์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชาวอยุธยาโดยกำเนิด กล่าวว่า คนในพื้นที่ไม่รู้ว่าบ้าน ร.1 อยู่แถวนี้

อาจจะรู้แค่ว่าเกี่ยวกับราชวงศ์จักรี เพราะสมัยก่อนวัดดังกล่าวจะมีกฐินหลวงทุกปี อีกทั้งทางวัดเองก็ไม่ได้พูดถึงเลยว่ามีบ้าน ร.1 หรือตรงนี้เป็นย่านตลาดใหญ่ที่สุดของคนจีนสมัยอยุธยา ก็ไม่น่าจะรู้กัน หรือแม้แต่คนที่นำเที่ยวก็ไม่ได้พูดถึง อาจจะให้ความสำคัญในส่วนอื่นๆ ของวัดมากกว่า อีกทั้งเวลาคนมาเที่ยวอยุธยาก็ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับแถวนี้ เนื่องจากจะไปเที่ยวเฉพาะพระราชวังโบราณมากกว่า ตนในฐานะคนอยุธยาอยากให้มีการส่งเสริมให้คนทราบข้อมูลส่วนนี้

“อยากให้มีการให้ความรู้มากๆ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์สังคมของอยุธยา หรือที่เรียกว่าภูมิวัฒนธรรม ถ้าจะมีป้ายบอกความเป็นมาเกี่ยวกับย่านบ้าน ร.1 ก็เห็นด้วยมากๆ เพราะว่าเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจของพื้นที่มากขึ้น สังคมจะได้ประโยชน์มากๆ นอกจากความรู้ที่ได้แล้วอาจนำไปสู่การต่อยอดด้านอื่นๆ เช่น การสร้างเรื่องราวให้การสินค้าในชุมชน ส่งผลในแง่การท่องเที่ยววัดนี้ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม ที่นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ของอยุธยาที่มีแต่วัดกับวังอย่างที่ผ่านมา” นายวรรณพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image